Sign in with:
Google

หนังเปรี้ยง! คอสตูมปัง!

Updated at: 2024-12-28 19:29
หนทางการทำงานของ “มุก-ปวเรศ วงศ์อร่าม” เริ่มจากการทำงานในกองโฆษณา หนังสั้น และไวรัลต่างๆ จนผันตัวมาเป็น costume designer คู่ใจของผกก. บาส-นัฐวุฒิ พูลพิริยะ เมื่อประจวบเหมาะโอกาสฤกษ์งามยามดี ก็ได้ถูกชักชวนมาร่วมกระบวนการทำหนังใหญ่เรื่องแรกในชีวิตของพี่มุก ซึ่งก็คือเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” นั่นเอง
 
“บรีฟแรกที่เราได้จากพี่บาสเลยคือเป็นเรื่องสี ทำยังไงก็ได้ให้สีบอกคาแรคเตอร์ พี่บาสให้เราไปหาโทนจากการวิเคราะห์ตัวละคร อุปนิสัย ลักษณะว่าใครเหมาะกับสีอะไร โดยทั้งหมดจะเป็นการร่วมกันคิด อย่างพี่บาสก็จะถามว่าเราคิดยังไง แล้วมาเจอกันครึ่งทาง พี่บาสเค้าจะเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องโทนสีสำหรับแกคือสำคัญมาก โคตรเป๊ะ พี่บาสเป็นผู้ชายคุมโทน ละเอียดมากถึงขั้นดูตะเข็บชายเสื้อเลยนะ มีครั้งนึงเคยขายเสื้อเชิ๊ตขาวทั้งหมด 7 ตัว ผ้าแบบนี้ ปกแบบนั้น เนื้อผ้ายังไง ขาวเท่าไหน พี่แกดูหมด อย่างเสื้อเชิ๊ตที่แบงค์ใส่มันจะเป็นเสื้อยุคเก่ามันจะเป็นชายเสื้อโค้ง แต่ตัวที่เอามามันเป็นชายเสื้อตรง แกก็ชี้ให้ดูเลยว่าต้องแก้ยังไง ทำให้เราเองก็ต้องรีเสิร์ชเยอะขึ้น เอาไว้เถียงกันได้ (หัวเราะ)” พี่มุกเล่าถึงการทำงานกับพี่บาส
 
แต่ถึงจะเป็นการทำงานหนังใหญ่ครั้งแรก ด้วยฝีมือการตีความและความกระตือรือร้นในการค้นคว้า ทำให้การออกแบบเสื้อผ้าในสไตล์ของ “ฉลาดเกมส์โกง” โดดเด่นสะดุดตาจนคว้ารางวัลสุพรรณหงส์รางวัลออกแบบเสื้อผ้ายอดเยี่ยมประจำปีนี้
 
“เราไม่เคยคิดเลยนะว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ตอนแรกเราก็คิด เออ.. หนังมันก็ต้องซักร้อยล้านแหละวะ มันก็ถึงจริงๆ แล้วมาถึงการเข้าชิงและได้รางวัลสุพรรณหงส์ มันก็สุดมากจริงๆ  เรารู้สึกว่ามันมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่รางวัลที่เราทำคนเดียว มันเป็นองค์ประกอบโดยรวมทุกอย่างที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็เลยทำให้เราได้มาถึงจุดนี้ ขอบคุณพี่บาสมากที่ให้โอกาส เพราะการทำงานกับพี่บาสนี่ใช้สมองสองสามเท่ากว่าทำกับคนอื่นเลยนะ เรางัดความรู้ที่เค้าสอนมาทั้งหมดมาใช้กับงานนี้เนี่ยแหละ คือการทำ costume design มันไม่ใช่การทำชุดที่ยิ่งใหญ่อลังการ หรือแฟชั่น แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสมตามเนื้อเรื่องทั้งหมด มันต้องตอบโจทย์เนื้อเรื่อง เพราะต่อให้เรามีชุดที่หวือหวาตัดเย็บสวยงามแต่ไม่ได้ไปด้วยกันกับเรื่อง มันก็ไม่ใช่การทำหน้าที่ที่ถูกต้อง มันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น แต่เราว่ามันคือความเข้าใจมากกว่าทั้งในตัวหนังและความต้องการของผู้กำกับ มันคือการคุมโทน สี ความเหมาะสมต่อนักแสดง สำหรับเราสิ่งหนึ่งที่เราซีเรียสมากตลอดเวลาคือการออกแบบยังไงให้นักแสดงไม่ได้ใส่แล้วแค่ “เป็น” ตัวละคร แต่ต้องให้เค้า “รู้สึก” และเชื่อว่าเค้าเป็นตัวละครนั้นจริงๆ”
 
ในความง่ายนั้นมีความยาก ถึงแม้การแต่งตัวของแต่ละตัวละคร “ฉลาดเกมส์โกง” จะดูธรรมดาทั่วไป แต่ทั้งหมดล้วนแฝงความคิดที่ลึกซึ้งที่กรั่นออกมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง costume designer ทีมอาร์ต และผู้กำกับ แต่ละชิ้นจะมีความหมายอะไรบ้าง และส่งผลต่อองค์ประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร วันนี้พี่มุกมีคำตอบ
 

 

 
 
 
โจทย์ที่ 1 ‘ลิน’ : สาวเนิร์ดคนเก่ง ผู้ยืนระหว่างความถูกต้องและความโกง
 
“ลินเป็นตัวละครที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง อย่างตอนเริ่มต้นแรกลินจะเป็นเด็กเรียน จะมีความไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ เราจะโกงดีมั้ย พอเริ่มดำเนินเรื่องวางแผนการ เราก็จะเริ่มหยอดสีที่โทนร้อน มีความกระตือรือร้น แสดงให้เห็นถึงพลังอะไรบางอย่างที่กล้าที่จะลุยลองดูซักครั้ง โทนจะออกมาเป็น แดง ส้ม เหลือง แต่ทั้งหมดก็จะมีความตุ่นๆ ให้เหมาะสมกับเซ็ทและโลเคชั่นด้วย จะเห็นว่าชุดของลินมักจะแต่งให้คู่กับสีน้ำตาล หรือยีนส์มาเบรคสีสดไว้ โดนทีมคอสตูมของเราจะได้เห็น outline ของการทำงาน เวลาที่ทีมอาร์ทเค้าส่งเซ็ทมาให้ เราก็ต้องมาดูแล้วว่าสีเสื้อผ้ามันควรจะเป็นแบบไหน
 
เราต้องคิดว่าถ้าเราเป็นลินเนี่ย เราจะใส่เสื้อตัวนี้มั้ย ทีมของเราก็จะมาแชร์กัน โดยบุคลิกของลินคือเป็นแบบเด็กเรียน เราว่าเค้าจะไม่ใส่เสื้อที่พอดีตัวหรือโชว์สัดส่วนมาก ไม่งั้นลุคมันจะผิดไปเลย อย่างพวกเสื้อยืดลายสกรีนต่างๆ ที่เป็น ‘90s หน่อยๆ มันก็จะเหมือนเสื้อที่ตกทอดมาจากรุ่นคุณพ่อ
 
สำหรับเสื้อที่เป็นคำในช่วงแรกๆ มันเกิดมาปิ๊งไอเดียในตอนที่เราได้เริ่มไปช็อปปิ้ง อย่างพวกเสื้อ I LOVE SYDNEY พวก wording ต่างๆ จะถูกหยอดมาเรื่อยๆ ให้มีลูกเล่น เสื้อ “Making It Happen” นี่คือเสื้อจริงที่สกรีนมาอยู่แล้ว ไวยากรณ์ผิดก็มาทั้งอย่างที่เห็นเลย คือเสื้อตัวนี้มันแขวนอยู่ที่ร้าน แล้วคือของมันต้องมี ! เอามันลงมา ต้องใช้ได้แน่นอน ! สุดท้ายดีใจมากที่อยู่ในช็อตนี้ มันเป็นความ “บังเอิญ” เจอที่ “ตั้งใจ” เอามาใช้ แล้วสีก็ลงตัวอย่างดีกับเซ็ทของโรงแรม
 
แต่สำหรับเสื้อในตอนสอบที่ออสเตรเลียแล้วเนี่ย บอกเลยว่าบรีฟแรกไม่ใช่สีนี้แต่เป็นสีแดงเลือดนกเลือดหมู อะไรประมาณนี้ ลายข้าวหลามตัดตัวนี้กว่าจะได้นี่.. ซัดไปประมาณ 20-30 ตัว กว่าจะได้ ด้วยความที่พี่บาสแกเป็นคนเป๊ะมาก ก็ต้องมาจับคู่กันใหม่ให้เป็นสีนี้”
 
 

 

โจทย์ที่ 2 “แบงค์” : เด็กหนุ่มสู้ชีวิต กับภาระอันหนักอึ้ง

ตัวละครตัวนี้สำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตัว สำหรับแบงค์เค้าจะชอบใส่เสื้อโปโลไม่เหมือนวัยรุ่นทั่วไป จริงๆ มันมีเรื่องที่ปูมาว่า พ่อของแบงค์สมัยก่อนเป็นทนายที่รวยแต่ดันมาเสียขีวิตซะก่อน หลังจากนั้นบ้านก็จนลงๆ ดังนั้นต้องสังเกตเสื้อผ้าที่แบงค์ใส่แต่ละตัว มันจะเป็นเสื้อที่ออกย้อนยุคสมัย ‘90s เสื้อที่ silhouette แบบโบราณๆ ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็เฉยๆ เหมือนชุดอยู่บ้าน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ก็แบงค์เค้าแต่งตัวไม่เป็น เป็นคนที่หยิบอะไรมาได้ก็ใส่ มันคือเสื้อที่ตกทอดมาจากคุณพ่อเค้า สีมันก็เลยจะเป็นโทนแก่ๆ ไม่สดใส อย่างสีเทา สีกรม สีดำ เป็นพวกสีเข้มๆ สุขุม มั่นคง มันมีความเศร้า แต่ก็มีความชั่วร้ายแฝงอยู่ในนั้น เป็นสไตล์ที่เหมือนหยิบๆ มาจากตู้เสื้อผ้าพ่อแล้วก็มาใส่กับกางเกงวอร์ม 

เสื้อผ้าทุกตัวที่เราให้ตัวละครใส่มันคือการตั้งใจ ทุกแบบ ทุกทรง แม้กระทั่งทุกโลโก้ เราก็เคยคุยกับพี่บาสเหมือนกันว่าเรื่องแบรนด์เสื้อผ้า มันจะติดเรื่องลิขสิทธิ์มั้ย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่เอาออก เราตั้งใจจะให้เห็นแบรนด์เลย ว่ามันเป็นเสื้อแบรนด์ที่เก่าที่ผ่านการใช้งานมานาน คือแบงค์เค้าก็ไม่จนขนาดนั้น เรียกว่าเป็นฐานะปานกลางมากกว่า อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด

ส่วนเสื้อ BOSTON ที่แบงค์ใส่ ในช่วงตอนฝึกซ้อมก่อนไปสอบที่ออสเตรเลีย พี่บาสบอกให้ทำขึ้นมาใหม่เลยนะ เพราะมันเหมือนเป็นจุดมุ่งหมายของแบงค์ที่จะไปเรียนต่อที่นั่นให้ได้ ฝันแล้วต้องไปให้ถึง ก็คือถ้าสอบ STIC ผ่าน นี่คือเมืองที่ต้องการจะไป” 

 


 

 
โจทย์ที่ 3 “เกรซ และ พัฒน์” : คู่ขวัญ idol ประจำโรงเรียนสุดเพอร์เฟค

“เกรซ” เป็นผู้หญิงที่ตอนแรกดูเหมือนจะใสๆ ก็จะผู้หญิ้ง ผู้หญิง พอเป็นแฟนกับพัฒน์ก็จะเหมือนคู่รักไอดอลประจำโรงเรียน สีของเกรซจะมีการหยอดสีม่วง สีชมพู เชิงพาสเทลไปด้วย ให้ดูนุ่มนวลอ่อนโยนชวนเพ้อฝันไร้เดียงสา แต่สีม่วงมันจะช่วยแฝงความโอ้อวดและเอาชนะไปในตัวด้วย 

ส่วนของ “พัฒน์” นี่ เนื่องจากเป็นเด็กรวย ก็จะมีความเยอะๆ คือจะไม่ใช่ขั้นตี๋ยกปก จะเป็นคนมีสไตล์คงความเรโทรไว้อยู่ หลักๆ จะเป็นเรื่องสีที่โดดออกมาจากคนอื่น อย่างพวกลายเสื้อก็จะเป็นแบบมีพื้นดำแต่จะมีสีสดสีโทนร้อนที่ดูมีความกระตือรือร้นหยอดลงไปในชุดอยู่เรื่อยๆ 

เรื่องสไตล์แบบเรโทรจริงๆ แล้วเป็นสไตล์ที่ติดตัวพี่บาสมาเลย ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าที่เลือกจะดูสมัยใหม่ แต่ก็จะต้องมีลูกเล่นนิดนึงที่เป็นสไตล์แบบพี่บาส แน่นอนว่าทุกงานมันไม่เหมือนกันหรอก คาแรคเตอร์ตัวละครก็เปลี่ยนไป แต่จะต้องมีดีเทลอะไรซักอย่างอยู่ที่เป็นสไตล์ของพี่บาสเค้า” 
 

 

โจทย์ที่ 4 “พ่อ” : คุณพ่อ

สำหรับเรา ตัวละครของ “พ่อ” นี่ยากมากเลยนะ พี่เอก-ธเนศมีส่วนช่วยเยอะมาก ทั้งในเรื่องยุคและวัยของการแต่งตัว พี่เอกจะเข้ามาช่วยให้ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่ตัวละครเป็นครูที่ค่อนข้างจะโบราณ เค้าจะเป็นคนใช้ของเก่าจนผ่านเวลามา ดีเทลของเสื้อผ้านี่มีตั้งแต่ปกคอเสื้อ สี เนคไท เอวกางเกง ไปจนถึงความบานของขากางเกง ด้วยความที่พี่เอกเนี่ยอยู่ในวัยเดียวกับตัวละคร เค้าเลยช่วยเราได้เยอะมาก 

“คุณพ่อ” นี่จะมีโทนอบอุ่น เป็นสีน้ำตาล สีเหลือง สีที่ทำให้ดูเป็นมิตร ทั้งลินและคุณพ่อมีสีเหลืองเหมือนกัน แต่จะให้มู้ดที่แตกต่างกัน พี่บาสเนี่ยแหละที่เป็นคนพูดเลยว่าเหลือง-น้ำตาล !”