ใครที่ดูหนังแล้วยังอิน... ทางเราก็ขอเชิญมาฟินต่อกับเรื่องราวของเบสบอลสะท้านฟ้า และความสัมพันธ์พี่น้องของ #พี่ชัช #น้องเจน ในรูปแบบหนังสือการ์ตูน!!
วันนี้เราได้ ‘พี่เบล - เกษม อภิชนตระกูล’ และ ‘พี่แพ็ต - ณัฐพล อยู่วิทยา’ นักเขียน Storyboard และเจ้าของลายเส้นของการ์ตูนทั้งสองเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเล่มโปรดของ #พี่ขอย เรื่อง ‘เบสบอลสะท้านฟ้า’ และ น้อง.พี่.ที่รัก [ไซด์สตอรี่ของพี่กับน้อง] การ์ตูนสุดอินไซด์ ที่จะทำให้ทุกคนได้รู้จักตัวตนของ #พี่ชัช #น้องเจน ราวกับว่าโตมาด้วยกัน...มาพูดคุยกันแบบหมดเปลือกถึงดีเทลการทำงานกับ GDH และที่มาที่ไปของการ์ตูนทั้งสองเรื่อง!!
----
ส่วนเสริมที่ลงตัวสำหรับภาพยนตร์
สำหรับการ์ตูนทั้งสองเรื่องของ น้อง.พี่.ที่รัก พี่เบลรับหน้าที่เป็นสะพานในการประสานงานระหว่างสำนักพิมพ์ Siam Inter Comics และ GDH โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปรับบรีฟโดยตรงจากผู้กำกับ (พี่บอล-วิทยา)
“วันที่นัดพูดคุยกัน พี่บอลก็ได้เล่าเนื้อเรื่องโดยรวมของหนังให้ฟัง อธิบายว่าธีมของเรื่องนี้เป็นยังไง อยากให้อารมณ์ของการ์ตูนออกมาเป็นยังไง รวมไปถึงดีเทลของบทภาพยนตร์บางส่วน ที่พี่บอลตั้งใจจะใส่เข้าไปในหนัง แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ดีเทลเหล่านั้นจึงไม่ได้ไปต่อ! พูดได้ว่าการ์ตูนเล่มนี้ จึงทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมที่ลงตัวของภาพยนตร์” พี่เบล กล่าว…
----
#ชัชเจน ทุกดีเทล...
เมื่อพี่เบลได้รับข้อมูลทั้งหมดมาจากพี่บอล (ผกก.) แล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกแชร์ต่อไปที่พี่แพ็ต (ผู้วาด) จากนั้นพี่เบลจึงเริ่มลงมือแต่งเนื้อเรื่อง เสร็จแล้วก็ส่งไปให้ทางผู้กำกับได้อ่าน เพื่อดูว่าส่วนไหนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนไหนต้องปรับเปลี่ยน ส่วนไหนสปอยล์หนังเกินไป รวมถึงดูดีเทลต่าง ๆ ของทุกคาแรคเตอร์ เนื่องจากว่าตัวละครในหนังกับตัวละครที่จะมาอยู่ในหนังสือการ์ตูน สุดท้ายแล้วเค้าคือ ‘คน ๆ เดียวกัน’ เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่าง ๆ จำเป็นต้องสอดคล้องกันให้มากที่สุด
ด้วยความที่ Storyboard นั้น ได้ถูกพี่เบลเนรมิตขึ้นมาพร้อม ๆ กับเนื้อเรื่อง จึงทำให้การทำงานของพี่แพ็ต (ผู้วาด) ง่ายขึ้นระดับหนึ่ง เพราะพี่เบลได้มีการวางดีเทลหลัก ๆ ไว้แล้ว เช่น ในซีนนี้คนไหนจะยืนตรงไหน หันหน้าไปทางไหน แล้วช่องคำพูด หรือ ตัวหนังสือจะเอาวางตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้น คนวาดอย่างพี่แพ็ตก็จะมีหน้าที่ในการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ภาพทุกอย่างมันชัดเจนมากที่สุด
พูดง่าย ๆ ก็คือ “การทำ Storyboard เป็นเพียงดีเทลคร่าว ๆ เพื่อให้คนวาดนำไปพัฒนาต่อ ให้ทุกอย่างมีชีวิตชีวาและสวยงามมากยิ่งขึ้น”
----
“เบสบอลสะท้านฟ้า” การ์ตูนเล่มโปรดของ #พี่ขอยและ #น้องเจน
การ์ตูนเรื่อง ‘เบสบอลสะท้านฟ้า’ เป็นผลงานของ อาจารย์ Kippu Guron ปรมาจารย์แห่งวงการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเลยนะ!! #หราาาา ความจริงก็คือ… อาจารย์ Kippu ท่านนี้ มีตัวตนอยู่แค่เพียงในหนังเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก และในความทรงจำของพี่ชัชกับน้องเจนเท่านั้นแหละ แต่คิดจะทำการ์ตูนเล่มโปรดของพี่ขอยทั้งที ก็ต้องไปให้สุดทางกันหน่อย ใช่ไหม!
ในส่วนของ #สาระที่แท้ทรู พี่เบล (ผู้แต่งเนื้อเรื่อง) เล่าให้ฟังว่าดีเทลหลัก ๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้ มีที่มาจากการ์ตูนเรื่องโปรดของพี่บอล (ผู้กำกับ) คือเรื่อง ‘สองสิงห์เจ้าสำอางค์’ โดย Oshima Yasuichi ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวสรรเสริญความเป็นลูกผู้ชาย โดยที่ตัวเอกเป็นทั้งนักเลง นักกีฬา นักรัก และเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว แฮ่! แล้วจึงเอามาเสริมเติมแต่งให้ดูเวอร์วังอลังการมากยิ่งขึ้น ด้วยท่าไม้ตายอย่าง “ลูกไฟประลัยกัลป์” พี่เบลเสริมว่า “ตอนที่เขียนเรารู้สึกสนุกไปกับมันมากเลย ส่วนผู้วาดการ์ตูนเรื่องนี้ (คุณ Becassine) ก็ทำลายเส้นออกมาได้ตรงตามที่เรานึกภาพเอาไว้เป๊ะเลย!”
สำหรับใครที่อยากอ่านการ์ตูนเรื่อง #เบสบอลสะท้านฟ้าฉบับเต็ม ก็ต้องลุ้นกันไปก่อนนะ เพราะตอนนี้ทาง Siam Inter Comics ยังไม่มีแผนขยายโปรเจคต์ เพียงแค่คิดไว้ว่าจะทำออกมาเป็นชิ้นงานสนุก ๆ สั้น ๆ เท่านั้นเอง...แต่พี่เบลแอบบอกมาว่า “ถ้ามีเสียงเรียกร้องอย่างหนาหูขึ้นมาก็ไม่แน่นะครับ!”
----
ทิศทางที่ #ชัชเจน ของนักวาดและนักเขียนการ์ตูน
เมื่อเริ่มพูดถึงเรื่องลายเส้น ทางเราก็รีบหันหน้าไปหาพี่แพ็ตทันที…
พี่แพ็ตไขข้อสงสัยให้เราฟังว่า “ลายเส้นของแต่ละคนมันชัดเจนประมาณหนึ่งอยู่แล้ว คนไหนวาดการ์ตูนอย่างไหนได้คนนึงวาดการ์ตูนดราม่าได้ ส่วนอีกคนอาจจะเหมาะกับการวาดการ์ตูนตลก อย่างผมก็จะถนัดวาดหัวกลม ๆ ตัวเล็ก ๆ ก็จะเหมาะกับการ์ตูนคอมเมดี้ หรือถ้าคนไหนที่ถนัดวาดการ์ตูนสไตล์ตาหวาน ก็คงไม่เหมาะที่จะเอามาวาดการ์ตูนหนัง เพราะการ์ตูนแบบนี้ต้องการความชัดเจนของคาแรคเตอร์”
ไม่ใช่แค่คนวาดการ์ตูนที่มีทางของตัวเองชัดเจน คนแต่งเนื้อเรื่องแต่ละคน ก็จะมีทางถนัดอยู่แล้วเช่นเดียวกัน อย่างพี่เบลก็จะถนัดทางดราม่าและคอมเมดี้ บางคนก็จะชอบเรื่องผี ๆ โหด ๆ ไปเลย แต่สุดท้ายแล้วบรรณาธิการก็จะเป็นคนที่พิจารณาเพิ่มเติมว่าใครเหมาะสมกับเรื่องไหน
----
ความจริงจังในความตลก
เมื่อพี่เบลเขียนเนื้อเรื่องเสร๊จ ต่อมาพี่แพ็ตก็จะต้องทำการวิเคราะห์อารมณ์โดยรวมจากเนื้อเรื่อง ว่าสุดท้ายแล้วการ์ตูนเรื่องนี้จะออกมาเป็นแนวจริงจังหรือไม่ ถ้าจริงจัง คือจริงจังเบอร์ไหน หรือถ้าเป็นแนวตลก จะตลกสุดโต่งไปเลยหรือแค่ยิ้มมุมปาก ที่ต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อที่พี่แพ็ตจะสามารถดีไซน์หน้าตาของตัวการ์ตูนเพื่อให้เข้ากับอารมณ์ตามเนื้อเรื่องได้ เช่น หากต้องมีการรับ-ส่งมุขกัน หน้าตาของตัวละครมันจะต้องโอเวอร์ ๆ หน่อย ถ้าในจังหวะรับ-ส่งมุขหน้าตาของตัวเอกยังหล่อเหลาเอาการณ์อยู่ อารมณ์มันก็จะส่งไปไม่ถึงคนอ่าน
----
️ ความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างการ์ตูนกับภาพยนตร์
ในแง่ของการแต่งเนื้อเรื่อง สิ่งที่ควรระวังที่สุด! คือการไม่สปอยล์หนังเรื่องนั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้เนื้อหาในหนังสือการ์ตูนเสริมให้หนังสือเล่มนั้น เป็นหนังสือหนึ่งเล่มที่สมบูรณ์ ต้องไม่ให้คนอ่านรู้สึกว่า “เนื้อหาในหนังสือการ์ตูนยังไม่จบแค่นี้นะ ถ้าอยากจะรู้ตอนจบต้องไปดูต่อในหนัง...” และเราก็พยายามที่จะไม่ทำให้การดูหนังเสียอรรถรสด้วย
ถึงแม้หนังสือการ์ตูนจะได้ชื่อว่าเป็น “ไซด์สตอรี่” แต่ว่าเนื้อหาในหนังสือ จะต้องสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับเนื้อหาในหนัง แต่ก็ต้องไม่ซ้ำหรือเหมือนกันจนเกินไป
----
หนังสือการ์ตูน...โลกในจินตนาการของนักอ่านและนักเขียน
เมื่อถามพี่แพ็ตว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ชอบอ่านการ์ตูน เราก็ได้คำตอบมาว่า “ก็เหมือนกับพี่ชัชในเรื่องเลยครับ เราอยากจะมีอภินิหารเหมือนอย่างตัวการ์ตูนที่เราอ่าน อย่างเช่น การขว้างลูกบอลไฟบรรลัยกัลป์ เราอยากปล่อยพลังได้อย่างคาแรคเตอร์ในการ์ตูน การ์ตูนมันให้บางอย่างที่เราทำไม่ได้หรือหาไม่ได้ในชีวิตจริง บางเหตุการณ์ที่เราอยากให้เป็น เราสามารถจำลองและจินตนาการได้ว่าเราหลุดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ”
พี่เบลเสริมว่า “พออ่านการ์ตูนเยอะ ๆ เราก็ใฝ่ฝันที่จะกลายมาเป็นคนวาด/คนทำการ์ตูนเองบ้างครับ เราอยากทำให้การ์ตูนเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นมาด้วยจินตนาการและด้วยมือของเราเอง เริ่มต้นจากตรงนั้นแล้วก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมได้มาเป็นคนทำการ์ตูนจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ เมื่อไอเดียกลายมาเป็นภาพวาด คนอ่านจะมีอิสระในการใช้จินตนาการมากกว่า”
----
มันคงเป็นความรัก...
ถ้าจะต้องแนะนำน้อง ๆ ที่อยากเข้ามาอยู่ในวงการการ์ตูน ก่อนอื่นก็จะแนะนำให้ซื้อการ์ตูนอ่านเยอะ ๆ เพราะถ้าคุณซื้อการ์ตูนมาอ่านบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุณได้รู้จักธรรมชาติของการ์ตูนแต่ละเรื่อง
คนที่จะมาอยู่ในวงการนี้ได้ จะต้องชอบการ์ตูนให้มาก ๆ มากพอที่จะหมกมุ่นและอยู่กับมันทุกวันได้ และต้องรู้ว่าเราชอบมันเพราะอะไร ในเมื่อคิดที่จะทำมันเป็นอาชีพ เราจะต้องแบ่งให้ได้ว่าจริง ๆ แล้วแค่ชอบอ่านการ์ตูนเฉย ๆ หรือว่าอยากสร้างสรรค์มันขึ้นมาจริง ๆ ถ้าไม่ได้รักหรือชอบการ์ตูนอย่างเป็นที่สุด ก็จะอยู่กับมันไม่ได้ หรือเอามันมาทำเป็นอาชีพไม่ได้
ไม่ใช่เฉพาะกับอาชีพนักเขียน/วาดการ์ตูนเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร เราจะต้องรักมันมากพอที่จะทำให้เราอยู่กับมันได้ในทุก ๆ วัน!
----
จะดู(หนัง)ก่อนก็ได้ จะอ่าน(การ์ตูน)ก่อนก็ดี
สุดท้ายอยากจะบอกว่า ถ้าทุกคนไปดูหนังเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก มาแล้วชอบตัวหนัง ก็อยากให้ซื้อการ์ตูนเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก [ไซด์สตอรี่ของพี่กับน้อง] มาอ่านเพื่อเป็นการเสริมอารมณ์ให้อินกับหนังเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น และจะได้รู้ว่า พี่ชัช กับ น้องเจน เค้าโตกันมายังไงถึงได้ทะเลาะกันหนักขนาดในหนังได้
พี่เบลทิ้งท้ายไว้ว่า “เราพยายามเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ให้ทุกคนสามารถซื้ออ่านกัน จะก่อนหรือหลังไปดูหนังก็ได้ หรือจะอ่านโดยที่ไม่รู้จักหนังเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก เลยก็ได้ เพราะเราอยากให้การ์ตูนเรื่องนี้จบในตัวของมันเองได้ แต่สุดท้ายแล้ว… หนังกับการ์ตูนมันเป็นตัวเสริมกันและกัน ถ้าคนดูชอบหนัง ก็อยากให้ลองอ่านการ์ตูนกันด้วย เพราะมันจะทำให้ทุกคนได้รู้จักตัวตนของพี่ชัชและน้องเจนมากยิ่งขึ้นครับ”