ใครที่เคยฟังเพลง “พี่ชายที่แสนดี” เวอร์ชั่น พี่อุ้ย-รวิวรรณ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งก็เคยใฝ่ฝันว่าอยากจะมีพี่ชายสุดเพอร์เฟคอย่างในเนื้อเพลง
แล้วรู้หรือไม่! ว่า “พี่บอล-วิทยา” ผู้กำกับ น้อง.พี่.ที่รัก ก็เป็นพี่ชายของบ้าน “ทองอยู่ยง” แต่ว่าจะเป็น #พี่ชายที่แสนดี อย่างในเพลงของพี่อุ้ย หรือจะเป็น #พี่ชายสุดห่วย อย่างพี่ชัช… วันนี้ GDH ขอชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับพี่บอลและพี่ซันนี่ผ่านมุมมองความสัมพันธ์น้องพี่ และรูปวัยซุกซนน่ารักน่าหยิกของพี่ชัช-น้องเจน (น้องแอลลี่-น้องดรีม-น้องซาช่า-น้องดิว)
ความสัมพันธ์พี่น้อง.. “เลือก” ไม่ได้ “เลิก” เป็นก็ไม่ได้
ผกก.บอล วิทยา : เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์พี่น้องมันน่าสนใจ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ประหลาด มันไม่เหมือนความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก อันนั้นมันเป็นความสัมพันธ์ที่ยังไงก็รัก พี่น้องมันจะบางทีรักบางทีก็ไม่รัก บางบ้านนี่ทะเลาะกันตลอดเวลาโกรธง่ายหายเร็ว เราไม่สามารถเลือกเป็นพี่หรือเป็นน้องของใครได้ เรา “เลือก” ไม่ได้และ ”เลิก” ไม่ได้
เอาจริง ๆ มันไม่เคยมีหนังที่พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง มันก็เลยท้าทายมาก เราตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้ใครไปดูก็รู้สึกว่า พี่เราก็เป็นแบบนี้ น้องเราก็เป็นแบบนี้ เลยรวบรวมจากประสบการณ์จริงจากครอบครัวหลาย ๆ คน รวมไปถึงเราด้วยในรายละเอียดบางอย่าง มันรวบรวมดีเทลที่เกี่ยวกับพี่น้อง ต่อให้เราไม่มีพี่ชายหรือน้องสาวแบบนี้ แต่ดูแล้วเรารู้สึก relate กับตัวเอง อย่างคนที่ดูแล้วเค้าก็จะรู้สึก “พี่ชัชนี่มันพี่ชายของเราเลย” หรือว่า “ชีวิตช่วงนี้เหมือนเราเลย”มันจะ relate กับคนทุกแบบ ไม่ใช่แค่คนที่เป็นพี่ชายกับน้องสาวเท่านั้น
พี่น้อง “เกลียด” กัน มีจริงหรือไม่
ผกก. บอล วิทยา : ตอนที่เลือกความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนน้องพี่ที่ตีกันตลอดเวลา เราเคยมีการถกเถียงกันว่าจะใช้คำว่า “พี่น้องที่เกลียดกัน” กับหนังเรื่องนี้ แต่กลัวคนดูจะไม่เชื่อว่าพี่น้องก็เกลียดกันได้ ถกกันไปถกกันมา ด้วยความอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะใช้คำนี้ได้ไหม ก็เลยทำการค้นคว้าต่อในอินเตอร์เน็ตใช้ประโยคว่า “พี่น้อง เกลียดกัน” พอกด Enter เท่านั้นแหละ Top Search คือกระทู้ทั้งหลาย ซึ่งแต่ละอันมีคนมาตอบ 2-3 ร้อยคน โดยมากจะเป็นการเอาเรื่องเรื่องวีรกรรมของพี่/น้องตัวเองมาเล่า พออ่านไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกได้ว่า “ถึงแม้เค้าจะพูดว่าเกลียดกัน แต่จริง ๆ แล้วเค้ารักกันนะ”
มันทำให้เราได้พบว่าประเด็นนี้มันแมส คนอินกับเรื่องพวกนี้มาก แล้วคนจำนวนมากก็พร้อมที่จะร่วมพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อนี้ สุดท้ายเลยตัดสินใจลุยต่อกับประเด็นพี่น้องที่เกลียดกัน”
เพราะไว้ใจที่สุด จึงน่าโมโหที่สุด
ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ : ถ้าถามว่าเป็นพี่น้องกันมันเกลียดกันได้ไหม? คือเอาจริง ๆ มันไม่เชิงเกลียดกันหรอก เราอาจจะมีการรำคาญกันและกันบ้าง แต่มันไม่ใช่การเกลียดกัน และสุดท้ายก็ต้องอยู่ด้วยกันอยู่ดี สำหรับผมคำว่าเกลียดนี่ห่างไกลมากเลย เพราะเค้าเป็นคนที่เราสนิทและไว้ใจมากที่สุด โตมาด้วยกัน รู้กันหมดทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นเวลามีอะไรเกิดขึ้นมันถึงน่าโมโหกว่าเดิมแค่นั้นเอง
“รัก” แต่อายเกินกว่าจะพูด...
ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ : พูดถึงครอบครัว ไม่ว่าบ้านไหนมันก็ต่างกันหมดแหละ ชีวิตเราไม่เหมือนกัน เราเจออะไรมาไม่เหมือนกัน แต่ด้วยคำว่า “สายใย” ความรู้สึกที่เรามีพี่น้อง ยังไงมันก็เหมือนกันทั่วโลก มันอธิบายไม่ได้ อธิบายไม่ถูก แต่อยู่ดี ๆ มันก็ “จึ๊ก” เหมือนหนังเรื่องนี้
ผกก.บอล วิทยา : ความจริงคือสุดท้ายแล้ว คนเราเป็นพี่น้องกัน ถึงจะด่ากัน เม้าท์กัน หรือทะเลาะกันยังไง ก็ไม่ถึงกับต้องใช้คำว่า “เกลียด” แต่ในแง่หนังมันไม่สามารถที่จะไม่ใช้คำนี้ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ ถ้าใช้แค่คำว่า “พี่น้องที่ไม่ถูกกัน” มันเบาเกินไป แต่พอเปลี่ยนเป็น “พี่น้องที่เกลียดกัน” มันดูน่าสนใจกว่า
เมื่อทุกคนได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็จะรู้สึกได้อย่างที่เรารู้สึกว่า...ลึก ๆ แล้ว น้องพี่สองคนนี้เค้ารักกันแหละ เค้าแค่ไม่แสดงออกเท่านั้นเอง
มองพี่น้อง ผ่านสายตาลูกคนเดียว
ผกก.บอล วิทยา : เวลาพี่น้องทะเลาะกันเค้าสองคนก็จะไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่เวลาคนอื่นมองมา มันจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งว่าทำไมเป็นพี่น้องกันถึงพูดจากันอย่างงี้ ทำไมถึงทะเลาะกันด้วยเรื่องแค่นี้ เหมือนอย่างในเรื่อง#น้องพี่ที่รัก เราก็มีเด็กฝึกงาน “น้องเดียร์” ที่เราเอาเค้ามาเป็นตัวแทนคนดู เราวางให้เค้าเป็นคนที่ต้องมาเห็นชัชกับเจน เถียงกันในเรื่องงี่เง่า ๆ ที่ลูกคนเดียวจะไม่มีทางเข้าใจ แล้วเราก็วางให้เค้าเป็นคู่หูของพี่ชัช เพราะถ้าชัชอยู่คนเดียวเค้าก็จะพูดในสิ่งที่เค้าคิดไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่เค้ามีคู่หูเค้าก็จะกล้าพูดในสิ่งที่เค้าคิดได้มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงของ “พี่ชัช”
ผกก.บอล วิทยา : ในหนัง “พี่ชัช” จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่ไม่เคยทำความสะอาดบ้าน อยู่ดี ๆ จะให้มาขยันดูแลบ้านมันก็ไม่ใช่ ซึ่งในความเป็นจริงมันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คนที่มีนิสัยหรือพฤติกรรมแบบนี้มาทั้งชีวิต อยู่ดี ๆ จะให้เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือมันก็ไม่ได้ แต่สุดท้ายอย่างน้อยเค้าก็ได้คิด ได้เกิดการเรียนรู้ ได้รับบทเรียน
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้มันคือความเป็นพี่น้อง ถ้าอยู่ดี ๆ พี่ชายที่สุดห่วยจะกลับกลายมาเป็นคนดี มันไม่ใช่ เราต้องการสื่อถึงความเป็นจริง ความสัมพันธ์พี่น้องจริง ๆ ที่คนอื่นก็สัมผัสได้เหมือนกับเรา
สายใยที่สื่อถึงกัน
ผกก.บอล วิทยา : มีหลายคนมาถามว่าทำไมพี่ชัชถึงไม่ขอโทษเจน สำหรับเราคือถ้าต้องการคำขอโทษ มันจะต้องเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทมากกว่า แต่สำหรับพี่น้องแค่มองตากันมันก็พอแล้ว ต่อให้ไม่ทำอะไรเลยแต่ความรู้สึกที่มีให้กันมันไม่มีใครเหมือน
พี่น้องจริง ๆ ก็จะทะเลาะกันเพราะเรื่องแค่นี้แหละ แล้วเค้าก็จะดีกันด้วยเรื่องง่าย ๆ อย่างงี้แหละ แต่สุดท้ายแล้วเราอยากจะสื่อถึงความสัมพันธ์พี่-น้องที่เป็นไปได้จริง ๆ
“ชีวิตจริง” แรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์
ผกก.บอล วิทยา : ช่วงเวลาที่ผมทำบท จังหวะชีวิตของน้องสาวผมก็เดินทางไปพร้อม ๆ กัน ตอนเริ่มทำบท น้องสาวผมเค้าก็เริ่มคบกับแฟน เค้าสองคนพัฒนาความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ ผมก็พัฒนาบทของผมไปเรื่อย ๆ จนสักพักเค้าสองคนก็แต่งงานกัน พอมาถึงตอนที่หนังเรื่องนี้จะเข้าฉาย น้องสาวผมก็คลอดลูกพอดี จังหวะมันก็เหมือนจะไปด้วยกันได้พอดี
แล้วตอนที่น้องสาวผมแต่งงาน วันรุ่งขึ้นเค้าก็เปลี่ยนนามสกุลบน Facebook พอผมเห็นก็รู้สึกใจหายนิด ๆ คิดไปว่านามสกุล “ทองอยู่ยง” มันได้หายไปจากโลกนี้แล้วหนึ่งคน คิดไปคิดมา ก็คิดได้ว่าไอ้ความรู้สึกอย่างงี้มันมีเลเวลความ “จึ๊ก!” ที่พิเศษดี เป็นความรู้สึกที่คนที่มีพี่น้องจะรู้สึกได้ดี ก็เลยสอดแทรกความรู้สึกส่วนนี้ลงไปในหนังด้วย สุดท้ายก็หวังว่าคนดูจะสัมผัสได้ถึงทุกความรู้สึกที่เราตั้งใจใส่มันเข้าไปในภาพยนตร์เรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก นี้