“อยากเห็นรูปแกขึ้นแปรสักทีว่ะ” คงไม่ได้มีแค่ “ลี้” ที่อยากเห็นภาพของ “มิน” เด็กหนุ่มมัธยมปลายผู้วาดภาพไว้มากมายอยู่ในชุมนุมแปรอักษร แต่ภาพของเขากลับไม่เคยถูกขยายใหญ่ให้ใครได้เห็นบนอัฒจันทร์เลย ภาพวาดของ “มิน” และการแปรอักษรจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญและเป็นสีสันให้กับภาพยนตร์ “HOMESTAY” แต่กว่าที่เราจะทำการแปรอักษรได้สักภาพนึงนั้นต้องผ่านกระบวนการและทีมงานมากมาย วันนี้ GDH เลยอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเหล่าบรรดาผู้คุมที่ช่วยกันรังสรรค์ความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นบนอัฒจันทร์ในภาพยนตร์ HOMESTAY ว่าพวกเขาเป็นใคร และต้องเตรียมการกันนานแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้วก็ต่อแถวขึ้นสแตนไปด้วยกันเลย
การที่จะทำให้เกิดช่วงเวลามหัศจรรย์ที่แผ่นสีชิ้นเล็ก ๆ หลายพันชิ้น ประกอบร่างรวมกันเป็นภาพขนาดใหญ่บนอัฒจันทร์นั้นไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ “HOMESTAY” ก็เช่นกัน มีทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มาร่วมด้วยช่วยกันมากมาย
พี่ป๋อง-นัธพนธ์ ขวัญมิตร ศิษย์เก่า รุ่น 114 (รุ่นเดียวกับ ผกก.โอ๋-ภาคภูมิ) เล่าที่มาให้ฟังว่า “หลายปีก่อน ผกก.โอ๋-ภาคภูมิ มาทำหนังสั้นที่สวนกุหลาบ โอ๋มาเดินดูโรงเรียนแล้วสนใจชุมนุมเชียร์และแปรอักษร เขาบอกว่ากำลังเขียนบทหนังอยู่ ซึ่งหนังสือนิยายต้นฉบับจากญี่ปุ่น พระเอกอยู่ในชุมนุมวาดรูป แต่ด้วยความที่ต้องดัดแปลงให้เข้ากับบริบทเด็กมัธยมในไทย ซึ่งไม่ค่อยมีชุมนุมวาดรูปแบบในญี่ปุ่น โอ๋เลยเลือกใช้การวาดรูปแปรอักษรแทน เลยขอมาสัมภาษณ์น้องในชุมนุม ขอเข้าไปเก็บรายละเอียดว่า เด็กเชียร์และแปรอักษรเขาอยู่กันอย่างไร ลักษณะท่าทางเขาเป็นอย่างไร สภาพห้องเขาเป็นอย่างไร เพื่อเอาไปเป็นข้อมูลประกอบในการเขียนบท ผ่านไปปีกว่า โอ๋ก็โทรมาบอกว่าต้องถ่ายภาพยนตร์แล้ว ผมเลยช่วยประสานงานกับทางชุมนุม และติดต่อน้อง ๆ ในชุมนุม ฟอร์มทีมเพื่อมาทำงานนี้กันโดยเฉพาะครับ”
ภาพวาดของมินที่ปรากฏในภาพยนตร์ “HOMESTAY” เป็นฝีมือลายเส้นของ “คุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” เจ้าของผลงานการ์ตูนแนวจิตหลุดสุดโด่งดัง ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้มีผลงานภาพของคุณเอกสิทธิ์ทั้งหมด 6 ภาพด้วยกัน เมื่อได้ภาพวาดของคุณเอกสิทธิ์มาแล้ว ฝ่ายแปรอักษรต้องทำอะไรต่อกันบ้างนะ?
พี่คล้าว-กสิณ จารุวันต์ ศิษย์เก่า รุ่น 129 เล่าถึงการลงสีแต่ละภาพว่า “รูปต้นฉบับทุกภาพเป็นฝีมือการวาดของคุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ วาดแล้วส่งไฟล์รูปมาให้ แต่ด้วยความที่การทำโค้ดแปรอักษรนั้นมีสีที่จำกัด และภาพในช่องโค้ดจะมีรายละเอียดที่น้อยกว่าภาพจริง เราจึงต้องนำภาพของคุณเอกสิทธิ์มาตัดทอนสีให้กลายเป็นภาพในพิกเซล เลือกใช้สีที่เรามีแทนเข้าไป ให้เกิดเป็นน้ำหนัก เป็นโทนสีที่มันได้อารมณ์ของต้นฉบับมากที่สุด”
พี่ป๋องเล่าเสริมว่า “แก้กันหลายรอบมากเลยนะ โอ๋จะแก้ทั้งสีและภาพให้มีฟีลลิ่งตรงกับที่เขาวางไว้ เพราะทุกภาพมีจุดประสงค์ มีอารมณ์ในภาพที่เขาอยากจะสื่อว่าภาพดูหม่น หรือมีความหวัง เขาก็อยากให้โทนสีเป็นไปตามนั้น”
กว่าจะได้โค้ดสำหรับแปรอักษรแต่ละภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย งานนี้พี่ ๆ น้อง ๆ ศิษย์เก่าศิษย์ใหม่ต้องรวมพลังรวมใจช่วยกันระบายสีเลยทีเดียว!
พี่พี-พีรบูรณ์ ปรียธาดา ศิษย์เก่า รุ่น 123 เล่าว่า “กระดาษโค้ดมีช่องมากถึง 30,000 ช่อง เราต้องมาลงสีทีละช่อง ๆ ใช้เวลานั่งระบายสีทำโค้ดก็ประมาณ 60-70 ชั่วโมง ต่อ 1 ภาพครับ”
พี่ป๋องเล่าว่า “รูปแลบลิ้น ใช้เวลาลงสีไปประมาณ 70 ชั่วโมง แต่ปรากฎบนภาพยนตร์ 2 วินาที คือผู้กำกับละเอียดมาก จริง ๆ รูปกลุ่มนี้ปริ้นท์ออกมาถ่ายทำก็ได้ แต่ผู้กำกับคงอยากให้ภาพยนตร์ออกมาสมจริงที่สุด”
และสำหรับใครที่อยากวาดภาพแปรอักษรแบบมิน พี่คล้าวแนะนำว่า “การวาดภาพสำหรับแปรอักษรจะมีข้อจำกัดนะ ปกติเราวาดภาพมีสีอะไร เราไล่น้ำหนักได้ตามที่ต้องการ แต่อันนี้มันไม่ได้ เราได้แค่ทีละช่อง เราต้องมองน้ำหนักให้เป็นว่าน้ำหนักนี้ควรจะไล่จากเข้ม กลาง แล้วไปอ่อน หรือตรงไหนควรเป็นสีเข้ม ตรงไหนควรปล่อยเป็นสีขาว เราต้องแบ่งระยะเอาไว้ เหมือนทำงานพิกเซล อาร์ท ต้องใจรักและอดทน”
อีกหนึ่งซีนดีเทลที่ผู้กำกับตั้งใจใส่เข้าไปในภาพยนตร์“HOMESTAY” ซึ่งนับเป็นภารกิจของเด็กชุมนุมแปรอักษรที่ต้องทำก่อนแปรทุกครั้งก็คือ การซ่อมเพลท นั่นเอง
น้องกานต์ อุษยาพร รุ่น 137 เล่าถึงการเตรียมความพร้อมในการแปรอักษรว่า “การแปรอักษรในงานหนึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือฝ่ายโค้ด มีหน้าที่ทำภาพแปรอักษรให้เป็นรูปพิกเซลเม็ดสี ส่วนที่สองคือฝ่ายซ้อมเชียร์ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง และส่วนที่สามคือฝ่ายอุปกรณ์ ก่อนนำไปใช้งานทุกครั้งจะต้องมีการตรวจและซ่อมเพลทก่อนว่ากระดาษสีหลุดไหม สีชัดเจนไหม เปิดพลิกกระดาษสะดวกไหม กระดาษสีเล่มนึงมีประมาณ 30 กว่าแผ่น และมีเลขกำกับอยู่ครับ”
“มิน” และ “ลี้” ได้เป็นเพื่อนกัน และได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการอยู่ในชุมนุมเชียร์และแปรอักษร แล้วน้อง ๆ ชุมนุมรุ่น 137 ล่ะ ได้อะไรจากการอยู่ในชุมนุมนี้กันบ้าง?
น้องอู๋-อริญชัย ตรีเสนห์จิต (ประธานชุมนุมฯ) : “ผมคิดว่าผมได้โตเป็นผู้ใหญ่ครับ เพราะว่าได้ทำงานจริง ได้เจอคนข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ให้กับชุมนุมครับ เป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้”
น้องปลาย-ปราบศึก ศัตรูลี้ (รองประธานชุมนุม) : “ได้เรียนรู้งาน การวางแผน การจัดระเบียบตนเอง การจัดการคน ถ้าเราไม่เคยวางแผนมาก่อน เราก็จะวางแผนแค่ง่าย ๆ จากหนึ่งไปสอง แต่ถ้าเราได้ฝึกวางแผนก็จะเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น รู้จักเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า รู้ว่าถ้าเจอปัญหาต้องจัดการอย่างไร”
น้องเอม-ชนน ผดุงไทย (ประธานฝ่ายโค้ด) : “ส่วนตัวผมได้ความรักจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานมาด้วยกันครับ เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน พักก็พักด้วยกัน กินข้าว นอน เล่นเกม ทำด้วยกันหมดเลยครับ”
น้องอุ่น-ศิวัช ศรีสุดดี (ฝ่ายโค้ด) : “ได้ไปคุยกับคนที่เราไม่รู้จักครับ การควบคุมน้อง ๆ การควบคุมตัวเอง เพราะการแปรอักษรทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกคนต้องทำให้พร้อมกัน เวลาท้อก็มีเพื่อนมาช่วย เพื่อนก็อยู่ทำด้วยกันจนจบครับ”
น้องกานต์-กานต์ อุษยาพร (ฝ่ายโค้ด) : “อย่างแรกคือได้เพื่อนครับ อย่างในหนังก็จะเห็นมิตรภาพของลี้กับมิน และก็ได้ฝึกตัวเองให้รับมือกับความกดดัน มันก็ทำให้โตขึ้นครับ การแปรอักษรเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของพวกเราครับ”
รู้หรือไม่! ฉากแปรอักษรบนอัฒจันทร์ที่คุณได้เห็นในภาพยนตร์ “HOMESTAY” นั้นเป็นงาน CGI สุดมหัศจรรย์จากบริษัท YGGDrazil Group Co.,LTD นั่นเอง เนื่องจากถ้าเราใช้คนจริงในการถ่ายทำ จะต้องใช้คนแปรอักษรมากถึง 1,200 คนเลยทีเดียว เนียนใช่ไหมล่ะ
ก่อนจะไปดู HOMESTAY ด้วยกันอีกครั้ง พี่ป๋องฝากทิ้งท้ายว่า “ใครที่เคยชมการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ หรือในทีวีมาแล้ว อยากจะชวนให้ลองเปลี่ยนมาดูในโรงภาพยนตร์กันว่ามันสวย และตื่นเต้นแค่ไหนครับ”