ค้นวิมาน เปิดตู้เสื้อผ้า พบที่มาของชาวสวนติดแกลม
กับการนำสีสันของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผสมผสานกับอินเนอร์ตัวละครในภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ ไปกับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ‘มายน์ - ชญานุช เสวกวัฒนา’ คอสตูมดีไซเนอร์มือฉมังที่อยู่เบื้องหลังการสร้างชีวิตให้ตัวละครในโลกภาพยนตร์มาแล้วมากมาย สำหรับเรื่องนี้ มายน์ต้องคิดแบบทองคำ รู้สึกแบบโหม๋ มองโลกอย่างแม่แสงเพื่อให้เข้าถึงจิตใจของ แต่ละคาแรกเตอร์ และถ่ายทอดออกมาให้พวกเขามีชีวิตโลดแล่นผ่านเสื้อผ้า
“โจทย์ในการออกแบบเครื่องแต่งกายเรื่องนี้ คือการอ่านบทแล้วสมมติว่า เราเป็นตัวละครตัวนั้นเราจะคิดจากตัวเขาเป็นหลัก เช่นถ้าเป็นทองคำ การที่เขาจะแต่งตัวแฟชั่น ก็ต้องหาว่าอินเนอร์มันมาจาก อะไรเขาเป็นคนแบบไหนคนทําสวนจะแต่งตัวแฟชั่นได้ยังไง ก็เลยมีคุยกับบอส (ผู้กำกับ) ถึงเบื้องหลังตัวละครว่ามีความเป็นมายังไง แล้วค่อยมาสรุปร่วมกัน”
“ส่วนไอเดียหลักที่ครอบหนังเรื่องนี้ไว้คือ ‘สีสันของแม่ฮ่องสอน’ เราก็ไปดูว่าที่นั่นเขาใส่สีอะไร ไปหาข้อมูลว่าเสื้อผ้าเขาเป็นยังไง และพอได้เจอ มันก็ประหลาดใจมากๆที่พบว่าพวกเขาแต่งตัวสีสันจัดจ้าน กึ่งเกาหลี สีส้ม สีม่วง สีเขียว สีแรงๆ สะท้อนแสง จะได้เห็นกันชัดๆ แจ็คเก็ตแขนกุดเพราะอากาศหนาว แต่สะดวกเวลาทำงานคนที่นั่นแต่งตัวเหมือนหลุดออกมาจากนิตยสารแฟชั่นเลย ซึ่งตัวละครทั้ง 5 ก็ถูกสร้างมาจากชีวิตที่ได้ไปสำรวจมาจริงๆ ”เบื้องหลังวิธีคิดของแต่ละตัวละคร สะท้อนผ่านเสื้อผ้า จะเป็นอย่างไร มาติดตามความคราฟต์ไปกับทุกดีเทล พร้อมกัน!
‘ทองคำ’ ไม่ใช่เสื้อสีสะท้อนแสง ไม่มีแรงทำสวน
“ทองคํา เป็นคนสวนที่ไม่ได้ทําสวนมาก่อน เป็นคนชอบแต่งตัว แต่ไม่ได้มีเงิน เราก็เลยลองคิดว่าในชีวิตของทองคำจะเป็นคนแบบไหน ดูจากสภาพแวดล้อมที่เขาต้องพบเจอเราเองก็ลองสังเกตจากเพื่อนๆ ของเราสมัยตอนเรียนที่ม.เชียงใหม่ พวกเขาจะซื้อเสื้อผ้ามือสองและเอามามิกซ์แอนด์แมทช์ เลือกตัวที่แปลกๆ เด็ดๆ เอามาผสมกัน”
“ดังนั้นเอ็กซ์เพรสชัน (Expression) ของทองคํามันก็จะดูเป็นแบบเสื้อผ้าที่สีมันตัดกัน ใส่อะไรไม่เห็นเข้ากัน แต่ลงตัว ทองคำเขาต้องเลือกด้วยตัวเอง มั่นใจที่จะใส่ โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าทําสวนแต่งตัวแบบนี้ได้ไหม งานส่วนงาน ความชอบส่วนความชอบ ตัวตนของเขาเลยถูกแสดงออกผ่านเสื้อผ้า ทองคําเป็นเหมือนสีส้มสะท้อนแสง มีความม่วงนิดๆ เพราะว่าเขาเป็นคนกล้าที่จะตัดสินใจ จากเด็กธรรมดาที่กล้าลงทุนทำสวน เลยรู้สึกว่าสีส้มเป็นสีที่แสดงความกล้าของเขาออกมาได้ดี”
‘โหม๋’ ลูกเลี้ยงผู้ยากไร้ รอใส่เสื้อผ้าบริจาค
“เสื้อผ้าของ โหม๋ ก็คือเสื้อผ้าที่ส่งต่อจากแม่แสง เพราะว่าเขาไม่มีเงินที่จะซื้อ ดังนั้นการแต่งกายของโหม๋จะคล้ายๆ กับแม่แสงมาก เสื้อผ้าบางตัวก็เป็นเสื้อบริจาค ที่เห็นชัดๆ คือ ‘เสื้อหนาวลายหมี’ เพราะมันเป็นสิ่งที่คนชอบซื้อแล้วเอาไปบริจาค จะมีแค่เวลาที่เป็นงานประเพณีใหญ่ๆ ที่โหม๋จะได้แต่งตัว เพื่อนๆ ในหมู่บ้านก็จะมีเครื่องหัวสวยๆ แต่โหม๋จะใช้แค่ริบบิ้นพันของขวัญเอามาผูก”
“จริงๆ สีเสื้อผ้าของโหม๋ เป็นได้หลายสี แต่ทุกสีจะตุ่นๆ มอซอๆ เหมือนเราคิดโดยเข้าไปอยู่ในหัวตัวละคร เขาซักผ้ายังไง ถ้าตัวเขามีอาชีพขายกะหล่ำปลีได้เงินไม่กี่บาท การซื้อผงซักฟอกมันแพงมาก เขาอาจจะใช้แค่นิดเดียวในการซักแต่ละครั้ง เสื้อผ้ามันก็เลยดูหมองๆ ถึงจะมีสีก็ถูกคราบดํากลบอยู่ดี”
‘จิ่งนะ’ กลืนไปกับต้นไม้ เหมือนคนไร้ตัวตน
“จิ่งนะ เป็นคนแบบค่ำไหนนอนนั่น เพราะว่าตัวเขาไม่มีอะไรเลย เขารู้สึกว่าการไปทำงานตัดต้นไม้แล้วได้เงิน มันก็มีค่ามากแล้วสําหรับเขา แวลู (Value) ของสิ่งต่างๆ สำหรับชีวิตของเขาและคนในเมืองมันไม่เท่ากันดังนั้นเสื้อผ้าที่จิ่งนะสวมใส่มันก็คือเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย มีพอใส่ กางเกงที่ใส่ก็มีตัวเดียว รองเท้าก็มีคู่เดียว แล้วก็ไม่ได้แคร์ว่ามันจะขาดหรือเปล่า”
“เขาเป็นเหมือนต้นไม้ที่แต่งตัวได้ สีออกไปทางน้ำตาล สีเขียว แทบจะกลืนไปกับต้นไม้เลย เพราะเขาไม่ได้มีตัวตน เขาเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้นเอง”
‘แม่แสง’ เสื้อผ้าเรียบง่าย กับการใช้ชีวิตแสนยาก
“แม่แสง เป็นคนประเภทที่มีอะไรก็ใส่ เพราะว่าชีวิตที่ต้องทำงานหนัก วันแต่ละวันของแม่แสงผ่านไปอย่างยากลำบากอยู่แล้ว เขาเลยไม่ได้สนว่าเสื้อผ้าต้องเป็นแบบไหน สีสันต้องเป็นอย่างไร เขาสนแค่ว่าใส่แล้วกันอากาศหนาวได้ไหม ราคาแพงหรือเปล่า เสื้อผ้าของแม่แสงเลยเป็นสีพื้นๆ ใส่ซ้ำๆ วนอยู่ประจำไม่กี่ตัว ”
‘เสก’ เสื้อผ้าลายทหาร สื่อถึงการปกป้อง
“จริงๆ อยากทําให้ เสก รู้สึกพึ่งพาได้ โดยเฉพาะสําหรับทองคํา ก็เลยให้เขาแต่งตัวที่มันดู Tough (บึกบึน) มีอินเนอร์ของความเป็นผู้ใหญ่ที่โตกว่าวัย เช่น เสื้อแจ็คเก็ตตัวใหญ่ลายทหารให้ความรู้สึกว่า สามารถปกป้องคนของเขาได้ ซึ่งตัวของเสกเองก็พยายามทําสิ่งนี้อยู่ ก็เลยเลือกที่จะสื่อสารออกมาทิศทางนี้”
“อย่างฉากงานศพของเสก สำหรับคนต่างจังหวัดมันเป็นการแสดงความเสียใจ แต่ทุกคนจะไม่ได้ใส่ชุดสีดํา เพราะบางคนทําสวนทําไร่ ก็จะใส่เสื้อที่่ทำงานทั้งวันไปงานศพเลย มันไม่มีใครกลับบ้านไปเปลี่ยนเป็นชุดดำ และก็ไม่มีใครมานั่งติดว่า ทำไมต้องใส่เสื้อสีนั้นสีนี้ ชาวบ้านเขามาเพื่อแสดงความเสียใจ ประเด็นมันอยู่ตรงนั้น สื่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตของคนต่างจังหวัดกับคนที่อยู่ในเมือง”