จาก 10 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ จากหนังสือสร้างแรงบันดาลใจสู่บทภาพยนตร์ จากความฉงนสู่ความชัดเจน พบกับที่มาที่ไปและเรื่องราวการเดินทางสุดมหัศจรรย์ ของบทภาพยนตร์เรื่อง HOMESTAY จากปากของ พี่สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญ และทีมเขียนบทมือฉมังที่รังสรรค์บทภาพยนตร์ให้ถึงปลายทาง
[เล่าที่มาที่ไปของ HOMESTAY ให้ฟังหน่อย]
พี่สิน : ขอท้าวความก่อนว่า เมื่อช่วงปี 2548-2549 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่สูญเสียคนในครอบครัวหลายคนในปีเดียวกัน เราเลยวนเวียนอยู่กับมวลบรรยากาศของความสูญเสีย แต่ด้วยความที่เราเป็นคนทำหนัง เราเลยอยากจะทำหนังที่พูดถึงการสูญเสีย แต่เป็นไปในทาง Positive
แล้ววันหนึ่ง พี่วัน (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) ก็ได้หยิบยื่นหนังสือเล่มหนึ่งมาให้เราลองอ่านดู หนังสือเล่มนั้นก็คือเรื่อง “เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม” หนังสือแปลวรรณกรรมญี่ปุ่น ของ Eto Mori พอเราได้อ่านเสร็จ เราก็ชอบเลย ชอบมากกกก นับตั้งแต่วันนั้นมา เราก็เลยตั้งใจอยากจะทำหนังเรื่องนี้ เพราะมันตรงใจเรามาก มันคือคำตอบว่าเราจะพูดถึงการสูญเสียให้กลายเป็นพลังบวกได้อย่างไร
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนังสือเรื่องนี้มีการเปลี่ยนสำนักพิมพ์ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หลายครั้งมาก จึงทำให้ในแต่ละครั้ง จากที่เราคุยเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ยากอยู่แล้ว…ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก
จริง ๆ แล้วจะบอกว่าการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาแปลเป็นภาษาไทยนั้น “ไม่ยาก” เพราะมีขั้นตอนที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่การติดต่อเพื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซ้ำยังเป็นภาพนตร์ต่างประเทศนี่สิ “หินสุด ๆ” !! แต่ความโชคดีในตอนนั้น คือหนังที่พี่กำกับ เรื่อง “ความจำสั้น..แต่รักฉันยาว” ได้ไปฉายที่ Tokyo Film Festival จึงได้ทำการเชิญคุณ Eto Mori มาร่วมงาน มาดูศักยภาพของหนังเราและค่ายหนังของเรา ประจวบกับว่ามีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เขียนจดหมาย ที่พูดถึงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อวรรณกรรมเรื่องนี้ ส่งไปให้คุณ Eto Mori ซึ่งเราก็ตั้งใจเขียนมาก ๆ ได้มาหลายหน้ากระดาษ A4 เลย น้อง ๆ ที่ออฟฟิศเห็นก็เลยเอาจดหมายนั้นไปทำเป็นหนังสืออย่างดี (แปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ) แล้วส่งไปให้คุณ Eto Mori สุดท้ายหนังสือที่เราตั้งใจทำเล่มนี้ ก็พาเรามาถึงจุดที่เค้าเซย์เยสในการขายลิขสิทธิ์ให้เรานำวรรณกรรมมาทำเป็นภาพยนตร์ครับ
พี่สิน : จริง ๆ แล้วเรามีการวางแพลนระยะเวลาการทำงานไว้นะ แต่โดยตัวหนังสือเอง แม้ว่าโครงเรื่องเค้าจะเขียนมาดีมาก แต่เราต้องมาทำการปรับบทให้เป็นบริบทแบบไทย และต้องทันยุคทันสมัยให้เข้ากับยุคปัจจุบันนี้ด้วย เพราะจากครั้งแรกที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็น 10 ปีมาแล้ว รายละเอียดหลาย ๆ อย่างจึงต้องเปลี่ยนต้องปรับ ดังนั้นเลยใช้เวลาในการค้นหาทิศทางของบทค่อนข้างเยอะครับ
การที่มีเนื้อเรื่องอยู่แล้ว แล้วเราต้องมา Adapt หรือดัดแปลง มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ แต่สุดท้ายไม่ว่าบทจะออกมายังไง หัวใจของเรื่องที่ทำให้พี่ตกหลุมรักหนังสือเล่มนี้ มันก็ยังอยู่ในหนังครบถ้วนหมดทุกรายละเอียด แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์พี่อย่างนึง คือ โทนของหนังที่ออกมาเป็นทริลเลอร์แฟนตาซี เพราะถ้าอิงจากในหนังสือมู้ดของเรื่องจะค่อนข้างฟีลกู้ด ซึ่งพี่แฮปปี้กับผลลัพธ์นี้มาก ๆ
[ทีมเขียนบทคุณภาพ ผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของบทภาพยนตร์เรื่อง HOMESTAY]
เป็ด : ภาพยนตร์เรื่อง “HOMESTAY” มีทีมเขียนบททั้งหมด 5 คนครับ ได้แก่ ผม (เป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร), แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน, นท-อภิโชค จันทรเสน, พี่เอก-เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ และพี่โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (ผู้กำกับ) ครับ
แคลร์ : หลังจากที่เรียนจบ พี่เก้งและพี่วันก็ติดต่อไปว่ามีหนังสือเล่มนึงที่เค้าอยากจะเอามาทำเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็คือหนังสือเรื่อง “เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม” แต่มันเป็นหนังสือแปลมาจากญี่ปุ่น พอเราได้อ่านก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี อีกอย่างก็เป็นโอกาสให้เราได้ทำงาน เราก็เลยตอบตกลงไปค่ะ
เป็ด : แล้วก็เป็นจังหวะเหมาะกับที่พี่เพิ่งทำอีกโปรเจกต์เสร็จพอดี ก็เลยมีโอกาสได้เข้ามาช่วยแคลร์ทำบทภาพยนตร์เรื่องนี้ จากนั้นแคลร์ก็ดึงเพื่อนอีกคน (นท) เข้ามาช่วยทำอีกบท ส่วนพี่เอกสิทธิ์ (เคยทำเรื่อง 13 เกมสยอง) พี่โอ๋ ผู้กำกับ อยากจะให้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย จึงแนะนำและดึงเข้ามาครับ
**นอกจากนั้น แคลร์ยังแอบบอกกับเราอีกด้วยว่า ”นอกจากจะเขียนบทเก่งแล้ว พี่เอกสิทธิ์ยังเป็นนักวาดภาพมือทองอีกด้วย!” รูปสวย ๆ ของมินที่เราเห็นในภาพยนตร์HOMESTAY แท้จริงแล้วเป็นฝีมือของพี่เอกสิทธิ์นี่แหล่ะ!
[ความเปลี่ยนแปลงจากบทวรรณกรรมสู่บทภาพยนตร์]
แคลร์ : ก็เปลี่ยนไประดับหนึ่งนะ เพราะอย่างตอนแรก โจทย์ที่เราได้รับมาสำหรับการพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ “เราต้องเปลี่ยนให้มันเป็นไทยมากยิ่งขึ้น!” จากนั้นก็เลยต้องเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสือ มาอยู่ในบริบทของประเทศไทย วัยรุ่นไทย ครอบครัวไทย ตอนนั้นในหัวเราก็เลยคิดอยู่แต่กับโจทน์นั้นว่าเราจะทำยังไงให้มัน “เป็นไทย” ดี
เป็ด : ตอนที่เราได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ครั้งแรก เราก็ชอบเลย! แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าเรื่องนี้มันยากมาก เพราะใคร ๆ ที่ได้อ่านก็ชอบมันหมด ถามใคร ใครก็ชอบ มันซึ้ง อ่านแล้วร้องไห้ อ่านแล้วรู้สึกอยากทำตัวให้ดีขึ้น เราก็เลยอยากทำหนังให้ได้อย่างในหนังสือ อยากทำบทหนังที่ทุกคนจะชอบและอิน ทำบทที่ท้ายสุดแล้วทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้จะได้อะไรที่ดี ๆ กลับคืนมา ซึ่งนี้แหละคือความกดดันมากๆๆๆ ลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าเราต้องมารีเมคหนังเรื่องหนึ่งมันดีมาก ๆ เราก็ต้องทำให้มันดีกว่าหรือก็ต้องไม่ดีน้อยไปกว่านั้นเนอะ อย่างเรื่องนี้ เราก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าคนที่เคยอ่านหนังสือแล้ว เค้าจะโอเคกับบทที่เราพัฒนาหรือปล่าว…
นท : หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคน การที่นำบทมาพัฒนาและดัดแปลง เราเลยต้องระวังมาก ๆ เราต้องปรับหนังสือยาวเป็นร้อยหน้าให้เป็นหนังสองชั่วโมง ต้องดัดแปลงบริบทญี่ปุ่นดั้งเดิมของหนังสือมาเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเราโดยเก็บความตั้งใจของผู้เขียนไว้ให้ได้มากที่สุด เลยถือว่าเป็นงานที่กดดันมากเหมือนกันครับ
[ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การดูแลของผกก.โอ๋]
เป็ด : ตอนแรกที่พวกเราพัฒนาบทเรื่องนี้กัน ด้วยความที่ Direction มันยังไม่ชัดเจน เราก็เลยเขียนมันให้ไปในทางดราม่า ให้ทุกอย่างมันเรียล ๆ หน่อย อย่างผู้คุม ตอนที่เราทำกันเองโดยไม่มีพี่โอ๋ ก็ยังมีผู้คุมอยู่แค่คนเดียว แล้วพวกฉากแฟนตาซีก็ยังไม่มีอยู่ในหัวเราเลย ไม่ว่าจะเป็นซีนตึกพลิก รถหมุน หรือแม้กระทั่งนาฬิกาทรายที่ไหลย้อนกลับ คือตอนแรกเราเขียนให้มันเป็นเรื่องชีวิตคนปกติไปเลย
แคลร์ : คือจริง ๆ ช่วงแรกมันยากที่สุดเลย เพราะเราทำบทกันเองอยู่สามคน (พี่เป็ด แคลร์ นท) จะมีพี่วันที่คอยเข้ามา Comment บ้าง แต่ว่าเราก็ยังไม่มี direction ที่มันชัดเจนตามที่พี่เป็ดบอก ช่วงนั้นก็ทำบทกันแบบงง ๆ ไม่รู้ว่าที่ทำอยู่มันดีหรือปล่าว จนกระทั่งพี่โอ๋ที่เป็นผู้กำกับของเรื่องนี้เข้ามาร่วมทีมด้วย ทุกคนก็จะรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างมันง่ายขึ้น มันมีรายละเอียดหรือ Direction ที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น ตัวผู้คุมที่อยากจะสิงใครก็ได้ หรือเวลาที่ผู้คุมโผล่มาในซีนก็จะมีความแฟนตาซีเกิดขึ้น
[ความสนุกระหว่างทาง]
นท : เราชอบตอนคิดซีนต่าง ๆ มากที่สุด เพราะเวลาพวกเราคิด เราจะใช้วิธีอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่พวกเราเคยเจอในชีวิต แล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นมุขหรือเป็นฉากในหนัง มันเป็นโอกาสให้เราสามารถเอาความทรงจำของเราใส่เข้าไปในหนัง เหมือนเอาตัวเราส่วนนึงไปใส่ไว้ในงาน แล้วทำให้หนังเรื่องนั้นเป็นของเราหรือมีตัวตนของเราแทรกอยู่
แคลร์ : สำหรับเรา เราว่าสนุกสุดก็ตอนคุยกัน/เถึยงกันเรื่องคาแรคเตอร์นี่แหละ เพราะทีมเขียนบทมันหลายคน แล้วแต่ละคนก็จะมองตัวละครไม่เหมือนกัน 100% อย่างเช่น ตัวละครแบบไหนถึงจะเหมาะกับการเป็นผู้คุม เราคิดกันจากบทเลยว่าในบริบทนั้นผู้คุมเหมาะจะเป็นใคร เช่น ถ้าเป็นซีนในโรงพยาบาล คนที่เหมาะจะเป็นผู้คุมก็คือพยาบาล อะไรอย่างงี้
เป็ด : ตอนแรกคาแรคเตอร์ “ผู้คุม” เราคิดกันไว้เยอะมากกก (ก.ไก่ล้านตัว) เยอะมากจริง ๆ มีทั้งเป็นครู เป็นพระ อะไรอย่างงี้ แต่อย่างที่แคลร์บอก ทุกอย่างเราคิดมาจากเนื้อเรื่อง มาจากบริบทนั้น ๆ และสถานการณ์นั้น ๆ ก็เลยถูกเทไปหลายตัวอยู่
แคลร์ : หรืออย่างตัว “มิน” คนเขียนบทแต่ละคน รวมถึงพี่โอ๋ ก็จะมองคาแรคเตอร์มินที่แตกต่างกันไป อันนี้เราเคยมีเถียงกันหนักมากจนทะเลาะกันและงอนกันเลยนะ แต่สุดท้ายเราก็เชื่อใจผู้กำกับ ผู้กำกับเห็นอะไร เราก็เข้าใจเค้า เห็นตามเค้าไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกว่าการเชื่อเค้าแล้วมันดี มันเวิร์ค
เป็ด : คือมันสนุกดีนะ อย่างตอนที่ถกกันเรื่องคาแรคเตอร์ “พาย” พวกเรา (ทีมเขียนบท) ก็ต้องเล่นเป็นพายในแบบของตัวเองให้คนอื่น ๆ ดู เพื่อที่จะ Convince ให้ทุกคนเชื่อและเห็นด้วยว่าคาแรคเตอร์แบบนี้แหละ เหมาะกับ “พาย” ที่สุด! การได้ทำอะไรแบบนี้มันก็สนุกดีนะ
แคลร์ : ตอนนั้นเราเคยพูด Dialogue ของมินอันนึง ที่พูดแล้วทำให้เราอินในคาแรคเตอร์นี้มากจนร้องไห้เลย มันคือฉากที่มินพูดกับพายตอนที่พายจะฆ่าตัวตาย เรา (คนเขียนบท) ก็มานั่งคิดกันว่าถ้าเราเป็นมิน เราจะพูดกับพายว่าอะไรเพื่อให้พายติดสินใจไม่ฆ่าตัวตาย แล้วพอเราต้องคิดเป็นมิน เอาความรู้สึกของมินมาใส่ในหัวเรา พอต้องพูดประโยคนั้นออกมาก็เลยร้องไห้ไปด้วยเลย...สำหรับเราวันนั้นคือสุดจริง ๆ
[คาแรคเตอร์ในดวงใจ]
พี่สิน : ผู้คุมแน่นอนครับ! ไอเดียเรื่องผู้คุมที่มาอยู่ในหลาย ๆ ร่าง มันเป็นไอเดียที่เราคุยกันมาตั้งแต่แรกแล้วครับ ซึ่งสุดท้าย พี่โอ๋ก็ทำออกมาได้ดีมาก ๆ สำหรับพี่ พี่ว่ามันอย่างพีคอ่ะ !!
(แล้วถ้าพี่สินต้องเพิ่มร่างของผู้คุมมาอีกหนึ่งร่าง พี่สินจะเลือกให้ผู้คุมเป็นอะไร?) น่าจะเป็นร่างผู้คุมแบบ “ปิงปอง ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์” มั้ง พี่คิดว่าน่าจะเพิ่มสีสัน ความสนุก และความฮาให้กับบทและตัวหนังได้ดีครับ
เป็ด : เราเลือก “มิน” เพราะเราได้สำรวจคาแรคเตอร์นี้มากที่สุด จากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ชีวิตต้องมาเจอสิ่งเลวร้ายรอบด้าน แล้วก็ได้มาทำนู้นทำนี่ ได้ชีวิตใหม่ มันเหมือนว่าเราในฐานะคนทำบทก็ได้คิดถึงสองตัวละครในร่างเดียว มันสนุกและท้าทายมาก ส่วนตัวละครที่คิดว่ายากมาก ๆ ก็คือ “พาย” เพราะเค้าเป็นคนที่ Logic และวิธีการคิดไม่เหมือนคนอื่น
แคลร์ : ชอบ “ลี้” ที่เป็นเพื่อนมิน ชอบตัวละครนี้ตั้งแต่ตอนที่อ่านหนังสือแล้ว เหมือนตัวละครตัวนี้จะได้เห็น “มิน” ซึ่งเป็นคนที่มีความดาร์คและมีความหม่นหมองในชีวิต ส่วนลี้ ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือหรือในบทภาพยนตร์ จะเป็นคนที่มองเห็นคุณค่าในตัวของมินเสมอ ถึงแม้มินจะไม่คิดว่าตัวเองมีค่า เราเลยรู้สึกว่าคาแรคเตอร์นี้อ่ะดีมากเลย
นท : เราขอเลือก “พาย” เพราะ พายอ้างอิงมาจากตัวเราเองเยอะเหมือนกัน ตอนเราอยู่มัธยม เราเป็นเด็กเรียน เนิร์ดมาก ๆ เหมือนพาย เลยเอาตัวเองใส่เข้าไปในพายเยอะเลย คือพายเหมือนเป็นเราในเวอร์ชั่นผู้หญิง [หัวเราะ]
[เมื่อคนเขียนบทได้ดูหนัง มันจะเป็นอย่างที่พวกเค้าคาดคิด/คาดฝันกันไว้หรือไม่]
นท : ต้องบอกว่าตอนดูหนังครั้งแรกคืออึ้งไปเลย ภาพในหนังหลาย ๆ ภาพคือตรงกับที่เราคิดไว้ในหัวเปี้ยบเลย บ้านแบบนี้ รถสีนี้ เสื้อลายนี้ ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้คุยรายละเอียดกันถึงเบอร์นี้ แต่พอพี่โอ๋ถ่ายออกมามันดันเหมือนภาพในหัวเราเด๊ะเลย ต้องบอกว่าเป็น magic เลยแหละ! เหมือนพี่โอ๋อ่านใจเราออก
แคลร์ : สำหรับเรา ตอนแรกก็รู้สึก “งง” ก่อน เพราะเราเคยเห็นบทที่มันเต็มกว่านี้ ยาวกว่านี้ พอได้มาดูหนังเราก็เลยมัวแต่จดจ่อคิดถึงสิ่งที่หายไป ตอนดูรอบแรกมันเลยอึ้ง ๆ งง ๆ แต่ว่าสิ่งที่ประทับใจคือ ภาพ เพราะตอนที่เราเขียนบท เรายังนึกภาพไม่ออก ไม่รู้ว่าภาพมันจะออกมาอลังการงานสร้างขนาดนี้ มันเกินกว่าที่เราคิดเอาไว้เยอะมากกกก!
เป็ด : ตอนพี่ดู พี่ก็รู้สึกคล้าย ๆ แคลร์ ตอนแรกดูก็แบบ เฮ้ย! อะไรหายไปบ้าง เอ๊ะ! สิ่งนี้มันเคยอยู่ตรงนี้หรอ ทำไมมันอยู่ตรงนี้ อะไรประมาณนี้ครับ ทุกอย่างมันดูตื่นตาตื่นใจมาก ตอนเขียนเราแอบสงสัยว่าพี่โอ๋เขาจะทำฉากรักโรแมนติกกุ๊กกิ๊กได้เหรอ เพราะไม่เคยเห็นเค้าทำซีนอารมณ์แบบนี้ เป็นห่วงมากว่าจะออกมาแบบลึกลับ น่ากลัว... แต่พอได้ดูหนังแล้วก็รู้สึกว่า มินกับพายในเวอร์ชั่นของพี่โอ๋ดูเหมือนเป็นเด็กที่รักกัน สนิทกัน มีความสัมพันธ์ที่แบบ โอ้โห! ดูแล้วใจเต้นอ่ะ แล้วก็ด้วยวิธีการถ่ายแต่ละช็อตของพี่โอ๋ จะมีวิธีการเคลื่อนกล้อง วิธีการวางเฟรมแบบ ที่สวยมาก มันน่าศึกษามากเลยนะ ดูไปทีละช็อตเราว่ามันเนี้ยบ มันกริบมากเลย ซึ่งเราไม่มีทางทำได้ขนาดนั้นแน่ ๆ
(มีส่วนที่หายไปเยอะไหม?)
เป็ด : ก็ประมาณนึงนะ น่าจะ 30-40% แต่เอาจริง ๆ มันตอบยากเหมือนกันว่าถ้ามันสมบูรณ์ 100% มันก็คงเป็นหนังที่ฉายไม่ได้เพราะมันจะยาวมากกกก รู้สึกว่าที่พี่โอ๋ทำมา ที่ตัดต่อเรียงมาแบบนี้ มันก็สมบูรณ์กับเวลาที่เรามีแล้ว
[ประโยคฮิตที่ตอนแรกไม่คิดจะใส่ในบทหนัง]
เป็ด : มันมีประโยคนึงที่ ‘พาย’ พูด...อันนี้ต้องให้แคลร์เล่า
แคลร์ : ก็ประโยคฮิต ๆ ที่พูดว่า “เราไม่ใช่แฟนกันใช่ปะ" “จะเป็นได้ไงก็มินไม่เคยขออะ” มันเคยมีเหมือนเวอร์ชั่นนึงที่เราไม่แน่ใจว่ามันจะดูอ่อยแรงเกินไปมั้ย พายจะเป็นคนพูดจาแบบนี้เหรอ เราก็เลยเอาประโยค “ก็มินไม่เคยขออะ” ออกไป แต่แล้วพอส่งให้พี่เก้ง/พี่วันดู เขาก็คอมเม้นต์กลับมาว่า “ประโยคนี้เอาออกไม่ได้เลยนะ มันเป็นประโยคที่ถูกใจคนดูแน่ ๆ ถ้าเอาออกไปคือเสียเลยนะ!” เราก็เลยตัดสินใจใส่กลับเข้าไปด้วยความไม่แน่ใจว่าคนดูจะชอบหรือไม่ชอบ แล้วพอฟีดแบ็คมันกลับมา กลายเป็นประโยคที่เฌอปรางต้องพูดในทุกโรงภาพยนตร์ ตอนไป Cinema Tour เราได้ยินแบบนั้นแล้วเราก็ดีใจมาก ๆ
[พอหนังสำเร็จออกมา เรารู้สึกยังไงกันบ้าง?]
แคลร์ : รู้สึกเหมือนเรียนจบเลย เพราะเอาจริง ๆ เรียนจบปุ๊บ เราก็โดดมาทำเรื่องนี้เรื่องแรกเลย แล้วก็อยู่กับมันมา 4 ปี เอาจริง ๆ คือเหมือนเรียนปริญญาใหม่อีกรอบนึงเลย แต่ก็ดีใจมาก ๆ ที่ตัวเองอดทน แล้วสุดท้ายมันก็เป็นหนังที่ให้อะไรที่ดี ๆ กับคนดู รวมถึงตัวเราเองด้วย
เป็ด : สมมุติถ้าพี่ไม่ได้เป็นคนทำหนังเรื่องนี้ เป็นคนดูธรรมดาหรือจังหวะนั้นเราไปทำโปรเจ็คอื่น พี่จะรู้สึกอิจฉาคนได้ทำโปรเจ็คนี้นะ เพราะสำหรับพี่ หนังเรื่องนี้มันเป็นหนังที่ดีงาม มีคนดูที่รักหนังเรื่องนี้ เวลาเราอ่านในทวิตเตอร์ บางคนบอกเขาดูแล้วเขาคิดถึงเพื่อน หรือคิดถึงแม่เขา หรือแบบ "โหหห นี่มันคือชีวิตเราเลย” พี่อ่านแล้วพี่รู้สึกดีใจมากที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ และก็อยากให้ทุกคนได้รู้สึกอย่างที่เรารู้สึกครับ