Sign in with:
Google

'เขียนจริง เจ็บจริง ไม่ต้องอิงนิยาย'

Updated at: 2024-11-24 06:52

ทันทีที่หนังหนึ่งเรื่องเริ่มขึ้น มันคือ 2 ชั่วโมงแห่งการนั่งดูเรื่องแต่ง แต่ก็แปลกดี.. ทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งที่ดูอยู่เป็นเพียงเรื่องสมมติ แต่ก็อดไม่ได้ที่เราจะเสียน้ำตาให้ความน่าสงสารของ 'เด่นชัย' และ 'นุ้ย' จาก 'แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว' ลุ้นระทึกไปกับภารกิจโกงข้อสอบข้ามทวีปของ 'ลิน' และ 'แบงค์' จาก 'ฉลาดเกมส์โกง' หวาดกลัวผีร้ายวิกฤติต้มยำกุ้งที่ตามมาทวงหนี้แค้นกับ 'บุ๋ม' ใน 'เพื่อน..ที่ระลึก' รวมถึงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากไปกับความสัมพันธ์ของพี่น้องอย่าง 'ชัช' และ 'เจน' ใน 'น้อง.พี่.ที่รัก' 

แน่นอนว่าบุคคลที่เอ่ยมาข้างต้นเหล่านี้ไม่มีตัวตน แต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกร่วมกับพวกเขาราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน อาจเป็นเพราะคุณกำลังโดนการโกหกที่ทรงพลังของเหล่าทีมพัฒนาบทของ GDH เล่นงานอยู่

"ตอนเขียน ‘คิดถึงวิทยา’ มันไม่มีหรอกครูสองคนรักกันผ่านไดอารี่ ต่างคนต่างเวลาไปสอนกันที่แพ โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา แต่ทำไมคนดูแล้วเชื่อ บอกว่าชอบครูสองกับครูแอนมากเลย ทั้งๆที่พวกเราแต่งเรื่องทั้งนั้นเลยนะ มีจริงก็แค่โรงเรียนเรือนแพ”

พอฟังสิ่งที่ พี่เป็ด (ทศพล ทิพย์ทินกร) หรือที่ทุกคนเรียกติดปากมาตั้งแต่สมัยเรียนว่า ‘เจ๊เป็ด’ ก็ทำให้เราระลึกได้ว่าการเขียนบทมักจะเริ่มต้นคิดจาก ‘ความจริง’ ก่อนเสมอ เพราะเราทำงานกับความเชื่อของคน และไม่มีอะไรจะโน้มน้าวคนให้เชื่อตามได้เท่ากับความจริงที่ถูกนำมาเล่าบางส่วนเสียใหม่อีกแล้ว

และในภาพยนตร์เรื่อง ‘Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน’ ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ผู้ชมต่างชื่นชมในบทภาพยนตร์ ผู้ชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนเอาชีวิตจริงมาเขียนเลย” วันนี้เราจะไปพูดคุยกับทีมเขียนบท เป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร และ แตง-ภัทรนาถ พิบูลย์สวัสดิ์ ถึงเบื้องหลังการทำงานในโปรเจกต์นี้กัน

 


 

จุดเริ่มต้น

แตง : จุดเริ่มต้นของแตงกับโปรเจกต์นี้ต้องย้อนกลับไปตอนเรียนปี 4 เด็กภาคฟิล์ม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จะต้องทำหนังสั้นหรืองานภาพถ่ายคนละงานเพื่อเป็นโปรเจกต์จบ (ธีสิส) และจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ให้ผู้ชมนอกคณะได้ดูในงานที่ชื่อ ‘กางจอ’ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญกับเด็กฟิล์มมาก เพราะอาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของหลายๆคนที่จะได้แสดงผลงานของตัวเองให้ผู้ชมจำนวนมากได้ดู

เราเองก็ต้องมานั่งคิดว่าจะทำเรื่องอะไรดี อาจารย์เลยให้โจทย์ไปลองทบทวนเรื่องราวในชีวิตตัวเองหรือที่เคยได้ยินมา ให้เลือกเรื่องที่ตัวเอง ‘รู้สึก’ มากที่สุดมาคนละ 5 เรื่อง จะสุขหรือทุกข์ ยังไงได้หมด เราเลยนึกถึงเรื่องระหว่างเรากับเพื่อนผู้ชายคนนึงที่สนิทมาก เวลาเราทุกข์เราก็จะไปปรึกษาเขา แต่เขามีแฟนแล้ว เลยกลายเป็นความก้ำกึ่งว่า “เอ๊ะ ที่เราเป็นอยู่ คือเพื่อนหรือกิ๊ก” และก็มีอีกเรื่องที่เคยได้ยินมาแล้วรู้สึกสนใจคือเรื่องการไป ‘ตามจับชู้’ พอเอา 2 เรื่องนี้มารวมกันมันเลยเป็นเรื่องของ ‘เด็กสาวที่สงสัยว่าพ่อมีชู้เลยชวนเพื่อนชายที่สนิทไปช่วยตามสืบ แต่ระหว่างนั้นเองก็กลับรู้สึกก้ำกึ่งในความสัมพันธ์จนเธอเริ่มสงสัยว่าจริงๆแล้วเธอก็เป็นชู้ด้วยรึเปล่า’

สุดท้ายก็กลายมาเป็นหนังสั้นของเราชื่อ ‘Shhh!’ (ชู่!) พี่หมู (ชยนพ บุญประกอบ) ก็มีโอกาสได้ไปดู ซึ่งพี่หมูชอบมากเพราะเราทำออกมาเป็นแนว comedy ซึ่งสไตล์ใกล้เคียงกับพี่หมู แถมพี่หมูยังสนใจไอเดียเกี่ยวกับ Friend Zone อยู่ก่อนแล้วด้วย พี่หมูก็เลยชวนให้เรามาช่วยพัฒนาบทเรื่อง Friend Zone แต่ตอนนั้นเราติดไปเขียนซีรี่ย์เรื่อง ‘พี่น้องลูกขนไก่’ (Side by Side) ก็เลยต้องเว้นช่วงรอจนเขียนพี่น้องลูกขนไก่จบก่อน ซึ่งพี่หมูก็รอจนสุดท้ายก็ได้มาเขียนบทด้วยกัน

 

(เกร็ด) - พี่หมู ชยนพ ชอบหนังสั้นเรื่อง Shhh! ของแตงมากจนถึงกับทรีบิวต์มาใส่ไว้ในตอนต้นเรื่องของ ‘Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน’ เลยทีเดียว

 

แตงเองซึ่งเคยทำหนังเกี่ยวกับ Friend Zone มาก่อนดูจะอินกับการทำโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้ามาเขียนด้วยซ้ำ แต่กับเจ๊เป็ด อีกหนึ่งสมาชิกในทีมกลับไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่มากเท่าแตง...

 

เป็ด : ตัวเราไม่เคยมีประสบการณ์ Friend Zone มาก่อนเลย เพราะฉะนั้นตอนเริ่มเข้ามาในโปรเจกต์เลยอาจจะไม่ได้สนใจในไอเดียนี้เท่ากับอีกสองคนในทีมที่ประสบการณ์ส่วนตัวค่อนข้างจะโชกโชน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นอย่างแรกเราเลยต้องทำความเข้าใจให้ตรงกับคนในทีมก่อนว่าไอ้นิยามคำว่า Friend Zone ที่เรากำลังจะพาหนังไปเนี่ยมันคือยังไง เราก็ย้อนนึกถึงเคสชีวิตเพื่อนๆ ที่เรารู้ว่ามันมี Friend Zone ก็จะเริ่มเห็นจุดร่วมของทุกคนว่าอย่างน้อยมันต้องมาจากการเป็นเพื่อนกันแล้วมีฝ่ายนึงรู้สึกดีกับอีกฝ่าย ส่วนอีกฝ่ายอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ว่าอีกฝ่ายชอบ แต่พอคุยกันในทีมก็พบว่าการที่อีกฝ่ายไม่รู้ว่าเพื่อนมาแอบชอบมันก็เท่ากับหนังแอบรักเพื่อน ซึ่งก็เท่ากับหนังเรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ ซึ่งเขาทำไปแล้ว ขึ้นหิ้งไปแล้ว แล้วเราจะไปทำอีกทำไม

งั้นเป็นไปได้มั้ยที่อีกฝ่ายนึงก็รู้? เริ่มฟังดูพิเศษขึ้นมาอีกนิด เพราะเราก็นึกถึงเพื่อนตัวเองคือเขาสองคนก็รู้กันนะว่าชอบกันแต่ก็เลือกที่จะเป็นเพื่อนกัน ทำไมคนสองคนชอบกันแล้วไม่เป็นแฟนกันล่ะ? อันนี้น่าจะเป็นจุดแรกที่เริ่มทำให้ตัวเราเองสนใจ ซึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องทำตัวเองให้สนใจในสิ่งที่จะเขียน เพราะตอนที่เรามองไอเดียนี้ในฐานะคนนอก Friend Zone เราจะรู้สึก “เฮ้ย! มันน่าอิจฉานะ เป็นเพื่อนกัน รักกันมานานเป็นสิบปี น่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีสิ" แต่พอเราคิดเป็นคนใน Friend Zone "เฮ้ย! มันทรมานนะเว้ย เราชอบเขา เราใกล้ชิดสนิทกัน แต่เราเป็นได้แค่นี้ เราไม่มีทางที่จะก้าวข้ามไปเป็นแฟนเขาได้” เสียงพี่ดามาเลย “ห่างแค่เพียงเอื้อมมือ แต่มันคือแสนไกล” คือมันแย่กว่าความสัมพันธ์แบบอื่นอีก

พอเริ่มเห็นความทรมานของคนที่อยู่ใน Friend Zone ก็เลยเห็นปัญหาของตัวละคร ซึ่งการจะทำหนังสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเลยคือมันต้องมีปัญหา (Conflict) เราก็เริ่มรู้สึกสนใจ เริ่มอินไปกับความสัมพันธ์นี้อย่างจริงจังขึ้นแล้ว อยากเข้าใจ อยากลงไปสำรวจความคิดความอ่านของคนที่ต้องตกอยู่ใน Friend Zone

 


 

ก่อนจะทำให้คนอื่นเชื่อ คนทำต้องเชื่อกันเองก่อน  

เป็ด : ตอนแรกมีแค่ไอเดียยังไม่มี Plot แต่พี่วัน (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ - โปรดิวเซอร์) ชอบหนังสั้นของแตง ที่เป็นกึ่งๆ Road Movie เรื่องการเดินทางไปจับชู้พ่อกับ Friend Zone ของตัวเอง พี่วันเลยแนะนำว่าให้ดันเส้นเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นพล็อท ซึ่งพอเราได้ฟังก็รู้สึกว่ามันพิเศษดี

มันเป็นหัวใจของหนังเหมือนกันที่เราจะหาวิธีเล่าว่าเพื่อนต่างเพศสองคนนี้สนิทกันขนาดไหนและยังไง ถ้าทั่วๆไปก็ เออ มันเรียนห้องเดียวกัน หรือ อยู่ทีมกีฬาเดียวกัน แต่อย่างใน Friend Zone เฮ้ย...มันสนิทกันถึงขั้นชวนกันไปตามจับชู้พ่อด้วยกันเลยว่ะ ซึ่งพอเหตุการณ์นี้ในหนังผ่านไป เราจะพอเชื่อว่าความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัวนี้มันพิเศษพอให้ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกันต่อมาได้อีกหลายสิบปี

แล้วพอจินตนาการต่อว่า ถ้า 10 ปีผ่านไป สถานการณ์มันกลับมาซ้ำรอย คราวนี้ฝ่ายหญิงมีแฟนแต่กลับสงสัยว่าแฟนมีชู้ แล้วฝ่ายชายไปช่วยสืบ ฝ่ายชายมันจะมีหวังในการออกจาก Friend Zone รึเปล่าวะ? แล้วถ้าลองบวกว่าต้องเดินทางไปหลายๆประเทศล่ะ? มันก็เริ่มๆฟังดูเป็นหนังรักมากขึ้น เข้าใจปะ มันไม่มีทางที่เราจะเอาความจริงมาเล่า 100% และไม่มีทางที่เราจะเอาจินตนาการมาเขียน 100% มันต้องผสมผสานกัน

 

แตง : แต่ปัญหาใหญ่เลยคือตอนแรกพี่หมูไม่เชื่อว่าผู้ชายอะไรจะบินตามผู้หญิงไปได้ทุกที่ เว่อร์ไปเปล่า ซึ่งสำคัญมากเพราะถ้าในทีมยังไม่เชื่อกันเอง พอหนังออกมาก็อาจจะมีคนดูบางส่วนเหมือนกันที่คิดว่า ‘เว่อร์ไปเปล่า’ แตงก็เลยเล่าเรื่องเพื่อนสนิทสมัยมหาลัยของแตงให้ฟัง คือมันปรึกษาอะไรก็ไม่ได้เลย แต่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ เวลาเราโทรไปแล้วมันได้ยินเสียงเราแย่ เราจะได้ยินเสียงดัง ‘แกร๊ก’ ของพวกกุญแจรถ แล้วมันจะถามเราว่า “มึงอยู่ไหน” พอมันมาหามันก็แค่มาอยู่เป็นเพื่อน พาเราไปเดินเล่น ในทางกลับกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาไม่สบายใจ เขาก็จะได้สิทธ์นี้เหมือนกัน เหมือนต่างฝ่ายมีปุ่ม SOS อะ กดเรียกแล้วมาหาทันที

ทีนี้แค่เล่าพี่หมูก็ยังไม่เชื่อ เราเลยลองโทรไปหามันเลย ทำเสียงเครือๆแล้วถาม “มึง สมมุติแฟนกูมีชู้แล้วมันอยู่ญี่ปุ่น มึงจะไปหามันเป็นเพื่อนกูได้มั้ย” เพื่อนเราก็ตอบ “ไปดิวะ มึงเป็นผู้หญิงจะไปคนเดียวได้ไง” / จบเลย

พอพี่หมูเชื่อแล้วว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง สิ่งที่ตามมาก็กลายเป็นว่าได้คาแรคเตอร์ของพระเอกมาด้วย คือกับผู้หญิงคนอื่นมันจะเลวยังไงแต่กับเพื่อนสนิทคนนี้ พื้นฐานคือความรักและเป็นห่วง จะไม่มีโหมดเสือรอขย้ำกวางอย่างเด็ดขาด


 

ต้องกรีดเลือดออกมาเขียน!!!  

แตง : หลังพอเห็นโครงเรื่อง เราก็จะเริ่มค่อยๆขุดประสบการณ์ที่ตัวเองมีขึ้นมาประกอบเป็นเรื่องราว ซึ่งวิธีการขุดคือต้องพยายามระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นให้เห็นภาพชัดที่สุดก่อน เพราะเราอยากเข้าไปสำรวจความรู้สึก ณ เวลานั้น สมมุติเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ร้านสุกี้ มันต้องเห็นทั้งควัน กลิ่นน้ำซุบ หรือแม้แต่เสียงเดือดปุดๆของน้ำในหม้อ พอภาพมันชัดมากๆความรู้สึกของเราจะค่อยๆกลับมาชัด ถ้าทำเรื่องอกหักก็ต้องสำรวจว่าเคยอกหักแบบไหนบ้าง อกหักสิบครั้งก็ต้องระลึกทุกครั้งถ้าอยากจะกลับไปเอาความจี๊ด

อย่างฉากกิ๊งกระโดดเกาะป้าย เราแชร์ประสบการณ์ตอนอกหักกัน พี่หมูเคยวิ่งไล่ตามรถแฟนเก่า ส่วนแตงเคยร้องไห้กลางออฟฟิศตอนไปฝึกงานแล้วเลิกกับแฟน เราเลยเดินออกจากประชุมแล้วตะโกนว่า “กูมาทำอะไรที่นี่!!!” เหมือนมาฝึกงานแล้วเลิกกับแฟน มันใช่เหรอวะ? อย่างน้อยมันทำให้เรา recall ได้ว่าเวลาคนอกหัก มันทำอะไรได้สุดขีดกว่าที่คิดมากๆ

แล้วเจ๊เป็ดก็เสริมว่าเคยนั่งรถบัสสองชั้นที่ฮ่องกง ป้ายไฟนี่ใกล้จนจะกระโดดเกาะได้อยู่แล้ว พูดคำนี้ออกมาคำเดียว ทุกคนในทีมร้องออกมาพร้อมกัน “เชี่ยยย” คนเขียนบทสามคนบอกให้มันกระโดดเกาะป้ายเลยดีมั้ยก็เลยกลายมาเป็นซีนกระโดดเกาะป้าย

แต่บางทีประสบการณ์ส่วนตัวของเรามันก็มีขอบเขต เหมือนสมัยเรียนมัธยมให้ตายยังไงปัญหาที่หนักสุดก็คืออ่านหนังสือสอบไม่ทัน จะไม่มีทางเข้าใจว่าการต้องทำงานหาเงินมันทรมานยังไง ซึ่งทำให้เขียนไม่ได้เพราะไม่เข้าใจจริงๆ และบางทีประสบการณ์ชีวิตของคนสามคนเอามาประกอบรวมกันได้หนังแค่ครึ่งเรื่องเอง มันยังไม่พอ ดังนั้นเราเลยต้องไปขอยืมประสบการณ์คนอื่นมาเพื่อคิดต่อยอด

สมมุติตอนประชุมคิดซีนบอกรักไม่ออก เพราะเราสามคนไม่เคยมีใครข้ามเส้น Friend Zone เลย เราก็ต้องไปถามคนที่ข้ามเส้นว่าความคิดกับความรู้สึกของเขามันเป็นยังไง แตงก็ถามรุ่นพี่คนนึง เขาก็เล่าว่าตอนนั้นเขาอยู่กับเฟรนด์โซนของเขาในรถ แล้วเขาก็บอกว่า “เออกูจะบวชละนะ” เฟรนด์โซนเขาก็อนุโมทนาไป แล้วเขาก็บอก “เออเนี่ย กูบอกมึงคนแรกเลย” ซึ่งเฟรนด์โซนเขาก็ตอบกลับ “ทำไมกูเขินมึงวะ”

ไอ้ความรู้สึกนี้เราเก็บมาเลยนะว่าการที่จะบอกรักเฟรนด์โซน มันไม่ใช่ความรู้สึกที่แบบโอเควันนี้เราตัดสินใจจะบอกรัก เพราะจริงๆมันอยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความรักมานานมากอยู่แล้ว มันเลยต้องเป็นสถานการณ์ที่หนีไม่ได้อีกแล้ว หนีไม่ได้อีกต่อไป ก็ต้องมาคิดต่อว่าหนีไม่ได้ของแต่ละคนคืออะไรบ้าง บางคนก็เพิ่งรู้ตัวว่าอยู่ดีๆ ก็เขิน หรือบางคนก็คือเมื่อจุดที่เขาจะไปมีแฟน หรือบางคนเมาแล้วจูบกัน หนีไม่ได้แล้วมันถึงต้องถาม เราก็จะเอาประสบการณ์แต่ละคนมา

บางทีพอเราคุยกับฝ่ายชายเสร็จ เราก็ต้องไปคุยกับฝ่ายหญิงต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลจากทั้งสองด้าน แต่ก็ต้องแอ๊บทำเป็นไม่เคยคุยกับฝ่ายชายมาก่อนเพราะเรื่องพวกนี้มันละเอียดอ่อน บางทีผู้ชายเล่ารายละเอียดมาชัดเจนมาก แต่ฝ่ายหญิงกลับจำอะไรไม่ได้เลยก็มี คุยเสร็จเราก็ได้แต่นั่งมองหน้ากันในทีม เศร้าอะ คนๆนึงจำได้ทุกอย่างแต่กับอีกคนนั่นแทบจะไม่ได้อยู่ในความทรงจำของเขาเลย   


 

ทดลองโกหก (กับคนใกล้ตัว)

เป็ด :  คือเรามีแฟน เวลาไม่มั่นใจอะไรมากๆในบทเราจะแอบถามแฟนว่าคิดยังไง ซึ่งแฟนเราเป็นคนปกติ ไม่ได้ดูหนังเยอะอะไร คือถามคนที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่แคร์อะไรเลย เขาจะพูดอะไรที่ตรงมากซึ่งมันจะสะท้อนความคิดของคนดูทั่วไปที่เขามาดูหนังเรา และบางทีมันก็ได้มุมคิดใหม่ๆเหมือนกัน

เราจะทำแบบนี้อยู่เสมอ พอประชุมเสร็จสักเดือนจะไปอัพเดทกับแฟนทีนึงหรือคุยกับแม่ หรือลองเล่าให้เพื่อนฟังดู เล่าเหมือนเป็นเรื่องจริงอะ “เห้ยมึง กูมีเพื่อนแบบมีพลังไฟฟ้าว่ะ เวลาโดนเหมือนโดนไฟดูดเลย” เมย์ไหนมันโม้ทั้งเรื่อง แต่ทำยังไงให้คนเชื่อดี? “เฮ้ย มีจริงหรอวะ มีได้ไง” แสดงว่าคนดูก็น่าจะอยากรู้ว่าคนนี้มีพลังได้ไง เราก็ต้องไปสร้างขึ้นมาว่า “เด็กๆโดนไฟดูดเหรอเลยมีพลังไฟฟ้า” “หรือโดนปลาไหลไฟฟ้ากัด” “หรือเป็นความผิดปกติทางร่างกายหรอ” ซึ่งเพื่อนเรามีพลังไฟฟ้าเว่ย เวลาใจเต้นแล้วจะปล่อยพลังไฟฟ้าออกมา “เห้ย ใจเต้นแบบไหนอะ ไปเจออะไรมาถึงใจเต้นวะ” แสดงว่าเขาสนใจแล้วว่าคนเราใจเต้นเพราะอะไรบ้าง อันนี้พวกเราก็ต้องคิดแล้วว่าคนเราใจเต้นเพราะอะไรบ้าง “อ๋อ เวลาเราเจอคนที่ชอบเข้ามาคุยด้วย” เออเราชอบความรู้สึกนี้ว่ะที่เวลาเราอยู่ใกล้คนที่เราชอบ เราใจเต้น เราก็จะไปถามคนอื่น “มึงเจอแฟนครั้งแรกมึงใจเต้นป่ะวะ” “เชี่ย โคตรใจเต้นเลย” แสดงว่าอันนี้คนอินว่ะ อันนี้ได้ แล้วก็เล่าต่อว่าผู้หญิงคนนี้เวลาใจเต้นจะปล่อยไฟฟ้าออกมา “เห้ยๆ แล้วแบบนี้มันจะอยู่กับคนที่ชอบได้ไงวะ” เออ อันนี้มันทำให้คนสนใจอะ “แล้วมันจะอยู่ได้ไงอะ ห้ามใจเต้นหรอ” มันก็จะช่วยรีเช็คได้ว่ามีอะไรที่เราต้องกังวลและแก้ไขเพิ่มเติม

แต่ถ้าเขาฟังแล้วไม่เชื่อ “ใจเต้นอย่างนี้ไม่มีจริงหรอก” แสดงว่าที่เราคิดมามันพังทลาย ถ้าคนดูไม่เชื่อ เขาก็จะคิดในใจตลอดดูหนังว่ามันไม่สมเหตุสมผล เขาจะคิดอย่างนี้ในหัวตลอดเวลาจนไม่ได้รู้สึกตามไปกับตัวละคร การสื่อสารด้านอารมณ์ของหนังก็จะล้มเหลวทันที

แต่เวลาเราไปดูรอบโรงหนังเด็กม.ต้นเรียนพิเศษ ดูเสร็จเขาแบบ “อิเมย์ปล่อยพลังไฟฟ้า” เขาพูดเป็นวรรคเป็นเวรอะ เหมือนกับเป็นเพื่อนเขาจริงๆแปลว่าเขาอิน เขารู้สึกร่วมไปกับหนังจนหนังจบแล้วอารมณ์เขายังไม่จบตาม ก็เหมือนพวกหนังซูเปอร์ฮีโร่แหละ ถ้าธานอสดีดนิ้วคนจะหายไปครึ่งจักรวาลก็รู้อยู่ว่ามันไม่มีจริงแต่ทำไมเรายังลุ้นตาม รู้สึกตาม เพราะบทมันทำให้คนดูเชื่อในสถานการณ์ จนทำให้คนดูอยากเชื่อและรู้สึกตามไปกับหนัง

การเขียนบทอาจจะเหมือนกับการเล่นเกมต่อจิ๊กซอว์ คนเขียนต้องค่อยๆสร้างชิ้นส่วนแต่ละชิ้นขึ้นมาและเอามาประกอบรวมกันเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนหนึ่งภาพ จึงไม่แปลกเลยที่ทีมเขียนบทของ GDH จะใช้เวลาในการต่อจิ๊กซอว์นานเป็นปีๆกว่าจะเสร็จ

รู้เบื้องหลังความสำเร็จที่ไม่ได้มาง่ายๆ แบบนี้ อยากจะร้องเพลงให้ทีมเขียนบททีมนี้ฟังสักท่อน

“ถึง - เขา - หลอก - แต่ - เต็ม - ใจ - ให้ - หลอก”