“ถ้าเทเลอร์ สวิฟต์ยังทำประกันที่ขา งั้นอาร์ม ชลสิทธิ์ ก็ควรทำประกันที่ข้อมือทั้งสองข้างไว้ด้วยเหมือนกัน” ข้างต้นคือคำพูดในหมู่คนเขียนบท GDH ที่แซว ‘อาร์ม ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต' มือตัดต่อรุ่นใหม่ไฟแรงผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการภาพยนตร์ไทยในขณะนี้ แม้จะดูเป็นคำพูดติดตลกแต่ก็ไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อาร์มกวาดรางวัลสุพรรณหงส์สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมมาแล้วถึง 3 ครั้ง (แมรี่อิสแฮปปี้ แมรี่อิสแฮปปี้ - 2014 / ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ - 2016 /ฉลาดเกมส์โกง - 2018) ไม่ว่าจะเป็นหนังแมสอย่าง ‘แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว’ หรือหนังอินดี้เต็งรางวัลอย่าง ‘มะลิลา’ ก็ล้วนแต่ผ่านมืออาร์มมาแล้วทั้งสิ้น
กระทั่งมาถึงผลงานล่าสุดของอาร์มอย่าง HOMESTAY ที่อาร์มถึงกับยกให้เป็นหนังที่ตัดยากที่สุดในชีวิตของเขา วันนี้อาร์มจะมาเล่าให้ฟังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดต่ออันยาวนานของหนังเรื่องนี้ที่กินเวลายาวนานถึง 8 เดือน!!
จาก ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’ สู่ ‘HOMESTAY’
ก่อนหน้านี้เราเคยช่วยพี่โอ๋ตัดเรื่อง ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’ มาก่อนแล้ว มางานนี้พอพี่โอ๋ชวนทำก็ตัดสินใจทำเลย เราเข้ามาคุยกับพี่โอ๋ช่วงปลายปีที่แล้ว(พ.ย.-ธ.ค.) ซึ่งเป็นช่วงจูนกันว่าอยากให้หนังมีมู้ดออกมาเป็นยังไง ผู้กำกับแต่ละคนก็จะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน เช่น พี่โต้ง ก็จะให้ดู mood หนังแบบที่เขาชอบ พี่บาส ก็จะส่งแนวสกอร์หนังมาให้เราฟัง ส่วนพี่โอ๋จะเป็นสายข้อมูล จำได้ว่าตอนทำฝนตกที่ห้วยขาแข้ง เขาจะมาพร้อมกับแฟ้มหนาๆที่มีรูปคุณสืบ นาคะสเถียร มีข่าวกับคลิปให้ดู อย่าง HOMESTAY ก็จะมาชวนคุยกันว่าเขาคิดอะไรมาแล้วบ้าง คุยเรื่องธีมหนัง ประเด็นหนัง แล้วก็เปิด visual ให้เราดูว่าในหนังจะมี mood แบบไหนบ้าง พอเราดูแล้วก็รู้สึก “โห พี่จะเอาเบอร์นี้เลยเหรอ” (หัวเราะ) คือเราแอบห่วงว่าจะทำ CGI ออกมาแบบที่ต้องการได้จริงเหรอ แต่พอสุดท้ายได้เห็นที่ Yggdrasil (บริษัททำ CGI) ทำออกมาจนเสร็จแล้วก็ต้องขอชื่นชมเลยว่าทำออกมาได้ดีกว่าที่เราคิดไว้เยอะมากๆๆ
จำได้ว่าความรู้สึกแรกตอนอ่านบทคือชอบช่วงครึ่งหลังมากรู้สึกว่ามัน tense ดี แล้วก็ชอบประโยคที่มินทะเลาะกับลี้ในห้อง เราชอบประเด็นนั้นของหนังมากๆ แต่จะขอสารภาพตามตรงว่าตอนแรกคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าจะตัดยาก แต่ไปๆมาๆ HOMESTAY กลับเป็นหนังที่เรารู้สึกว่าตัดยากมากๆ ยากแบบยากที่สุดเท่าที่เคยตัดหนังมาเลย
เล่าหนังแบบตามความรู้สึกตัวละคร
HOMESTAY ไม่ใช่หนังที่ตัดต่อหวือหวา ไม่เหมือนอย่างตอนที่ทำฉลาดเกมส์โกงคือซีนมันจะดูหวือหวาตามไดเร็คชั่นหนังจารกรรม แต่โครงสร้างเรื่องมันไม่ยาก มันเป็นเส้นตรง เราแค่พยายามทำแต่ละซีนแต่ละซีเคว้นซ์ให้ดีแล้วหนังมันก็จะออกมาเวิร์ค แต่ HOMESTAY มันยากที่โครงสร้างของหนัง ตัวละครก็เยอะมากแถมความรู้สึกยังซับซ้อนหลากหลายอารมณ์ แล้วนักแสดงทุกคนก็เล่นดีจนบางทีเราก็เลือกเทคไม่ถูก (หัวเราะ)
เราตัดเองมาเรื่อยๆเป็นซีนๆรอพี่โอ๋ปิดกล้องแล้วค่อยมาดูด้วยกันว่ามีซีนไหนการแสดงและการวางเพลงผิดไปมั้ย จำได้ว่าดราฟต์แรกยาว 3 ชั่วโมง 20 นาที ก็รู้สึกว่าต้องมีอะไรผิดแน่ๆเลย ตอนแรกคิดว่า cutting เราช้าไป ก็มานั่งแก้กับพี่โอ๋จนรู้สึกว่า mood หนังโอเคแล้วแต่ยังยาวไปมากๆ บางจังหวะก็ยังมีปัญหาซึ่งเป็นเรื่องปกติของดราฟท์แรกอยู่แล้ว ก็ไม่ได้คิดว่ามีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ ก็ตัดย่อลงมาเหลือประมาณ 2 ชั่วโมง 40 แล้วเอาไปให้พี่วันดู ก็เจอคอมเมนท์พี่วันกลับมาว่าเราตัดเหมือนรู้ว่าหนังจะจบยังไงมากไปหน่อย
ความหมายของพี่วันคือคนทำรู้ว่าเรื่องราวมันเป็นไงมาไงในขณะที่คนดูยังไม่รู้ คนทำเลยลืม ‘ตามความรู้สึกตัวละคร’ ยกตัวอย่างเช่น ซีนแรกๆที่แม่(พี่ขวัญ) เข้ามานั่งคุยกับมินที่เตียง ตอนแรกที่วางไว้คือเป็นซีนดราม่า ใช้เพลงดราม่า เพราะพี่ขวัญก็เล่นดีมากๆเราก็เลยอยากจะบิ๊วซีนให้มันส่งการแสดงของพี่ขวัญ แต่สุดท้ายก็ต้องแก้ทางโดยเปลี่ยนไปใช้เพลงลึกลับ เพราะอินเนอร์ของมินมันเท่ากับศูนย์ มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของร่างตายเพราะอะไร ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนตาย พอมันต้องมานั่งฟังแม่มันดราม่า มันไม่รู้สึกอะไรหรอก ซึ่งถ้ามินยังไม่รู้สึกคนดูที่ตามความรู้สึกมินก็ไม่มีทางรู้สึกตามเหมือนกัน ทางแก้คือเราต้องตัดตามความรู้สึกของมินซึ่งมินคนนี้ไม่รู้อะไรเลย ต้องให้คนดูรู้สึกตามมินที่คิดว่าสิ่งที่ได้ยินมาเป็นเบาะแสสำหรับการสืบเฉยๆ และต้องทำให้ทุกอย่างเป็นแค่เบาะแสหมดเลย ยกเว้นเรื่องพายที่เป็นเส้นหลัก
ในครึ่งแรกคนดูควรจะแค่รับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ณ.ตอนนั้น เพราะมินมันรู้แค่ว่ากูมีมิชชั่นที่ต้องทำ เราก็แค่ไล่เรียงเรื่องราวไปแค่นั้น ถ้าตลกก็ปล่อยให้ตลก ปล่อยตัวละครตามสถานการณ์ของเรื่องไป เหมือนมันเป็นสายลับปลอมตัวเข้ามา พอเกิดอะไรขึ้นมันก็ตามน้ำไป จนกระทั่งมันรู้อะไรบางอย่าง เราถึงจะทำให้มันลึกลับขึ้นมา
เรียงผิด อารมณ์เปลี่ยน
ปัญหาต่อมาที่ต้องแก้ก็เป็นเรื่องโครง เพราะมีหลายซีนมากที่ลังเลว่าจะเอาออกดีมั้ย อย่างพวก Deleted Scene หลายๆซีนเป็นซีนที่ดูเดี่ยวๆแล้วจะดีมาก แต่พออยู่รวมในหนังกลับทำให้รู้สึกไม่ดี หรือบางซีนเอาออกไปตั้งนานแล้ว สุดท้ายเอากลับมาก็มี เช่น ซีนที่ก่อนไปร้านอาหารมินทะเลาะกับลี้แล้วพ่อโทรมา จากนั้นก็ไปรับแม่ที่ออฟฟิศด้วยกันแล้วชวนแม่ไปกินข้าว ก่อนหน้านี้เอาซีนในรถที่ไปรับแม่ออก เป็นมินรับโทรศัพท์แล้วไปที่ร้านอาหารเลย คือมันเล็กๆน้อยๆมาก แต่คนไม่เข้าใจว่าแม่รู้สึกอะไร พ่อรู้สึกอะไร มันเลยกลายเป็นเหมือนนัดกันมาบอกเลิก
ปัญหาเหล่านี้มันเป็นเรื่องโครงว่าจะสลับซีนไหน ให้ซีนไหนอยู่ตรงไหน ยาวเท่าไหร่ ซีนไหนควรพูดอะไรบ้าง หนังเรื่องนี้มันรายละเอียดเยอะมาก เพราะถ้าเรียงผิดไปอารมณ์จะเปลี่ยน คนดูจะเข้าใจผิดไปเลย
มันมีบางซีนที่เราไม่แน่ใจเพราะเป็นเรื่องของการเอาซีนออก เอาซีนเข้า ยกตัวอย่างอีกซีนเช่น หลังจากตอนที่รถชนที่มินกลับมาวาดรูปแล้วเอาไปให้พาย ตอนแรกที่วางไว้คือมินเอารูปไปให้พายก่อนตอนเช้า แล้วพายมองมินที่หน้าเสาธง ตอนนั้นพายจะคิดถึงรูปที่มินวาด แล้วรู้สึกผิดว่าทำไมมินถึงเป็นคนดีอย่างงี้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี โกรธตัวเอง แล้วมินก็เข้าไปกอด ซึ่งก็ถูกสลับเป็นให้รูปทีหลัง เลยกลายเป็นพายมองมินแล้วคิดถึงเรื่องที่เกิดบนดาดฟ้าว่าจริงๆแล้วพายเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า ซึ่งมันได้ทั้งสองทาง แต่เรารู้สึกว่าพอให้รูปทีหลัง เรื่องพายมันจะคลี่คลายกว่า ใช้รูปเป็นจุดคลี่คลายที่มันชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเลือกได้ว่าจะเอาแบบไหนมันต้องดูมาทั้งเรื่อง
เราว่ามันเป็นหนังที่ยากเพราะต้อง convince คนดูให้ได้ก่อนจะไปถึงจุดเฉลย รู้สึกว่าเขียนบทก็ยาก เพราะมีหลายอย่างที่ต้องคงไว้จาก Colourful ซึ่งเป็นนิยายที่ตัวละครไปเรียนรู้เรื่องราวจากหลายๆตัวละคร พอมาเป็นหนังเราจะพูดตรงๆเหมือนนิยายก็ไม่ได้ เราต้องมี situation พอมี situation ก็ต้องผูกเรื่อง แล้วก็ต้องหาวิธีเรียงเรื่องว่าจะทำยังไงให้ smooth สำหรับคนดูที่สุด
เราว่า 12-13 เวอร์ชั่นแรกเราเปลี่ยนเยอะ แต่ point หลักในการแก้เรามีแค่ว่า มินจะสืบตอนไหน ในบทมันจะสืบสลับกับใช้ชีวิต เพราะงั้นตอนแรกที่เราทำ mood ซีนรักๆ เราก็ไม่ได้ทำออกมาให้โรแมนติกมากๆ เพราะเดี๋ยวมินก็ต้องกลับมาสืบ mood มันจะครึ่งๆกลางๆ ซึ่งคิดว่าซีนสืบจะเด่นกว่า ก็วาง mood ไว้เป็น Thriller-Drama หมดเลย เวลารักก็จะกึ่งๆเศร้า ก็เลยลองโครงแรกเป็นให้มินตามน้ำกับการใช้ชีวิตให้สุดก่อน ยังไม่ต้องสืบ เดี๋ยวสืบทีเดียวแต่พอลองทำแล้วมันแปลกและยากมากเพราะ mood มันคนละทางเลย เหมือนมีหนังโคริเอดะผสมฟินเชอร์ (หัวเราะ)
ก็เลยแก้มาเป็นทางให้มินสืบให้สุดจนไม่เจออะไรที่บ้านแล้วค่อยไปโรงเรียน เราว่าอันนี้เป็นข้อดีเพราะมันสืบจนสุดแล้วไม่เจออะไรแต่สุดท้ายก็เจอว่าพี่ซ่อนอะไรไว้ ก็เลือก logic นี้แทนว่าที่บ้านไม่มีอะไร เลยมาที่โรงเรียนแล้วเจอเข็มปทุมเพชร พอมาถึงครึ่งหลังส่วนใหญ่ก็จะล็อคไว้แล้วเพราะไม่ได้มีปัญหามาก ทุกอย่างรอการคลี่คลาย
เล่าอย่างงี้อาจจะดูเหมือนง่ายแต่เอาจริงๆแก้หลายเวอร์ชั่นมาก พอแก้โครงก็ต้องกลับไปแก้ mood แก้เพลง ตอนที่ทำนี่ท้อนิดเหมือนกันนะ จำได้ว่าเครียด เพราะไม่เคยทำอะไรแบบนี้ หนังเรื่องนี้ซีนหนึ่งตัดได้ 10 mood ซึ่งก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันทำได้ มันเหนื่อยแบบต้องตื่นมาทำอันนี้ทุกวัน แล้วก็ต้องมานั่งหาเพลง มันเหนื่อยกับการหา mood เพลงมาก แอบรู้สึกว่าทำงานวนลูปเหมือนกัน ดูรอบหลังๆเริ่มไม่รู้สึกอะไรแล้ว ตอนแรกๆยังร้องไห้อยู่นะ เริ่มกลับมารู้สึกดีตอนเกือบๆจะเสร็จ ตอนที่รู้สึกว่ามันเริ่มจะใช่ แล้วเราต้องทนดูสิ่งที่ไม่ใช่ไปหลายรอบมากๆจนชิน หลังๆเราไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีเพราะเราไม่มีเวลาหยุดพัก ถ้าเราได้หยุดสักเดือนหนึ่งแล้วกลับมาดูอาจจะโอเค แต่พอไม่ได้หยุด มันจะเริ่มมึนๆว่าอันนี้ถูกหรือยัง แต่ก็ได้พี่วัน พี่เก้ง พี่โอ๋ ช่วยกันดู พี่เก้งจะช่วยเรื่องเพลงเยอะเลยช่วยทำให้มันง่ายขึ้น
ทดลองเพื่อเรียนรู้
รู้สึกตัวเองได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเรื่อง creativity โครงสร้าง แล้วก็ mood จากหนังเรื่องนี้ รู้สึกได้ชัดเลยตอนไปทำซีรีส์เองว่าเราเข้าใจภาพรวมมากขึ้น ตรงนี้ต้องใช้เพลงยังไง ตรงนี้ตัวละครคิดอะไรอยู่ เราเริ่มมีสติในการดูสิ่งเหล่านี้มากขึ้น มันค่อยๆซึมซับเข้ามา คิดว่าตอนทำเรื่องหน้าก็น่าจะเห็นว่าตัวเองพัฒนาขึ้น ตอนทำดราฟท์หนึ่งเราจะมีความไม่เข้าใจบางอย่างทุกครั้งซึ่งก็เป็นทุกเรื่องนะ เวลาทำหนังเราก็อยากเข้าใจว่าทำยังไงมันถึงจะถูกและเข้าใจได้ตั้งแต่ดราฟต์แรก แต่พอทำโปรเจ็ดใหม่มันเหมือนเราเริ่มทำหนังเรื่องแรกใหม่ตลอดไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรมาก็ตาม เพราะหนังแต่ละเรื่องมันมีความพิเศษบางอย่างที่ไม่เหมือนเรื่องอื่น ไม่งั้นมันก็เหมือนทำเรื่องเดิมซ้ำๆ
เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้คือเรื่องใหม่ จะมาใช้มุกเดิมไม่ได้ ที่พูดแบบนี้ได้เพราะซีนบางซีนในหนังเรื่องนี้เราตัดมาแล้ว 10 แบบจริงๆ เห็นมาตั้งแต่ความรู้สึกมันน้อยที่สุดยันมากที่สุด ก็รู้สึกทึ่งว่ามันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ บางทีตัดต่างไปแค่นิดเดียว mood ก็เปลี่ยนแล้ว เราไม่ค่อยได้เจอหนังที่ซีนหนึ่งทำได้เยอะขนาดนี้ แต่ก่อนเราจะติดนิสัยชอบคิดว่า ‘แค่นี้ก็ได้มั้ง’ ตอนนี้เราเริ่มคิด ‘ได้มากกว่านี้หรือเปล่า / ต้องได้มากกว่านี้สิ’ เรารู้สึกว่าความคิดต่อการทำงานต่อหนังของเรามันโตขึ้น เพราะตอนทำหนังเรื่องนี้ พี่วันกับพี่เก้งทำให้เราเห็นว่ามันยังได้มากกว่านี้จริงๆ มันมีทางอีกหลายทางที่เรายังไม่ได้ลอง
สำหรับ HOMESTAY เราว่ามันยากมากๆจนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างซึ่งไม่รู้จะใช้อะไรกับเรื่องอื่นได้มั้ยนะ แต่ creativity ที่เราได้มามันทำให้เราตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ดีใจเพราะก็อยากจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นกว่านี้ไปอีกเยอะๆ
ส่วน Feedback ของคนดู เราดีใจนะ นอกเหนือจากเรื่องเทคนิค คนจะชมเรื่องตัดหรือเปล่าเราไม่ได้สนใจขนาดนั้น แต่เรารู้สึกดีมากกว่าเวลาหนังมัน impact กับคนดู มันมีบางคนที่คิดเหมือนเราตอนที่เราอ่านประโยคที่ลี้พูด รู้สึกดีที่เราสื่อสารสิ่งนี้ไปถึงคนได้ สิ่งที่มัน touch เรา มันไม่เคยหายไปไหนและมีคน touch เหมือนเรา เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ของหนังทุกเรื่องมันพิเศษ ไม่ต้องถึงขนาดเปลี่ยนชีวิต แต่ทำให้เขาได้ความคิดอะไรบางอย่าง สำหรับเราก็แฮปปี้มากๆแล้ว