หลังจากดู FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน กันแล้ว หลายคนคงจะขำก๊ากกับซีนตลก น้ำตาคลอกับซีนเศร้า และเผลอยิ้มไปกับซีนโรแมนติก เพราะนี่คือหนังรักโรแมนติกคอมเมดี้ ของ ผกก.หมู - ชยนพ บุญประกอบ ที่ทำให้หลายคนอินไปตามๆ กัน และในช่วงค่ำของวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าหนังจะฉายจบแล้ว ในโรงภาพยนตร์ก็ยังเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งเด็กมัธยม ไปจนถึงนักศึกษา และวัยทำงาน ต่างยังนั่งอยู่ที่เดิมไม่ลุกไปไหน เพราะรอบนี้เป็นรอบ Q&A ที่ GDH ได้จัดรอบพิเศษร่วมชมภาพยนตร์และพูดคุยกับ พี่หมู-ชยนพ (ผู้กำกับ), พี่เป็ด-ทศพล (ผู้เขียนบทภาพยนตร์) พี่เจื่อน-ปนายุ (ผู้ลำดับภาพ) และพี่ส้วม - สุขพัฒน์ (นักแสดง) มาเปิดใจถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของภาพยนตร์ FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน ว่าหนังรักที่ดูง่ายจะทำง่ายอย่างที่คิดรึเปล่า งานนี้เราให้เพื่อนเต็มร้อยทั้งสาระและความบันเทิง บอกเลยว่าจัดเต็มสุดๆ!
จุดเริ่มต้น..ก่อนจะสิ้นสุดทางเพื่อน
จุดเริ่มต้นของ "FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน" นั้น พี่หมู (ผู้กำกับ) เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกงานเขียนบท กับพี่วัน-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และพี่เก้ง-จิระ มะลิกุล (โปรดิวเซอร์) ถึงแม้จะเคยทำ “ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ” หรือ “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” มาแล้ว แต่สำหรับพี่หมูการทำหนังใหม่ก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง จึงตัดสินใจเข้าไปเรียนคลาสเขียนบทนี้ด้วย บทเรียนแรกๆ ของคลาสคือเริ่มต้นจากให้เล่าอะไรก็ได้ในห้องเรียน พี่หมูเลยเลือกที่จะเล่าเรื่องเพื่อนคนนึงที่มีคาแรคเตอร์เหมือนกิ๊ง หลังจากจบคาบ พี่เก้ง พี่วันจึงสั่งการบ้านให้กลับไปเขียนเรื่องที่เล่าในห้องเรียนวันนี้ นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พี่หมูได้เขียน ‘Friend Zone’
นอกจากการบ้านในคลาสเขียนบทแล้ว พี่หมูยังได้แรงบันดาลใจจาก ‘แตง- ภัทรนาถ’ หนึ่งในทีมเขียนบท ที่เคยทำหนังสั้นธีสิสเรื่อง "Shhh!" ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนสนิทไปตามจับชู้พ่อ "FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน" จึงเป็นเหมือนส่วนผสมของแรงบันดาลใจที่มาจากพี่หมูและแตง รวมไปถึงคาแรคเตอร์ของกิ๊งและปาล์มที่มาจาก reference คนรอบข้างของทั้งคู่ แล้วก็มีพี่เป็ดเข้ามาเสริมทัพช่วยเขียนให้โครงเรื่องชัดเจนมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะพัฒนาตัวละครจากที่เคยมีหลากหลายอาชีพมาก (พี่เท็ดเคยเกือบเป็นนักแบดมินตันทีมชาติ หรือ DJ ชื่อดังในผับ ส่วนกิ๊งก็เคยเป็นแอร์โฮสเตส หรือทนายความ) จนในที่สุดก็ได้พี่เท็ดในมาดโปรดิวเซอร์เพลงที่ต้องบินไปอัดเพลงคิดมากไกลถึงต่างประเทศ กับกิ๊งในมาดผู้จัดการส่วนตัวทั้งเรื่องงานและเรื่องหัวใจของพี่เท็ด
ในงาน Q&A ครั้งนี้ เราได้มีโอกาสถามไถ่ แทนความสงสัยของใครหลายๆ คน ถึงการเดินทางข้ามประเทศของกิ๊งปาล์ม พี่หมูก็ให้คำเฉลยว่า เริ่มแรกเลยไม่ได้เป็นแผนการตลาดแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้ตัวละครที่เหมือนจะมีความรู้สึกต่อกันได้ไปต่างประเทศด้วยกัน จะทำให้เรื่องดูโรแมนติกขึ้น โดยอิงประเทศต่างๆ จากประสบการณ์ที่ทีมเขียนบทเคยไปมา เช่น พี่เป็ดเคยไปนั่งรถทัวร์ที่ฮ่องกงแล้วมองป้ายจนอยากจะกระโดดเกาะ จึงกลายเป็นฉากที่กิ๊งกระโดดเกาะป้ายนั่นเอง พ่วงกับประสบการณ์ส่วนตัวของพี่หมูโดยตรง ที่เคยเป็นสจ๊วตถึง 2 ปีเต็ม จึงเข้าใจอาชีพการงานของ “ปาล์ม” ได้เป็นอย่างดี
หนังมันสั้น แต่กว่าจะเสร็จมันยาว !
ความยาวหนัง FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน เกือบ 2 ชั่วโมง แต่กว่าจะสิ้นสุดการเขียนบท พี่หมูและทีมได้ใช้เวลาถึง 11 เดือน! โดย 2 สัปดาห์จะต้องเขียน 1 ร่างแล้วส่งให้พี่เก้งและพี่วันอ่านเพื่อปรับแก้ รวม Treatment ทั้งหมด 12 เวอร์ชั่น และ Screenplay อีก 6 เวอร์ชั่น! แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของการเขียนบทที่จะต้องลองผิดลองถูกกันไปจนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่และลงตัวที่สุด
“การเขียนบทโรแมนติกคอมเมดี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยคืออาจจะซ้ำได้ง่าย มันรู้สึกเหมือนเคยดูมาแล้ว คล้ายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนกว่าคนเขียนบทด้วยกันสามคนจะหัวเราะออกมาพร้อมกัน น้ำตาไหลออกมาพร้อมกัน กว่าจะถึงโมเม้นต์นั้นก็ผิดกันมาตั้งหลายรอบ มันก็ไม่ง่าย” - พี่หมู
Deleted Scene : ฉากบนเครื่องบินที่หายไป
และสิ่งที่พิเศษสุดๆ ในค่ำคืนนี้ที่ทุกคนรอคอยก็คือ Deleted Scene หรือฉากที่ถูกตัดออกไป ของภาพยนตร์ "FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน" นั่นเอง พี่หมูผู้กำกับของเราแอบกระซิบว่าหนังเรื่องนี้ Deleted Scene น้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ งานนี้ต้องขอยกความดีความชอบให้กับทีมเขียนบทเลย
ซึ่งฉากที่ถูกตัดทิ้งไปนั้นเป็นช่วงที่ปาล์มกับกิ๊งนั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่ด้วยกัน ถูกเขียนมาเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของปาล์มกับกิ๊งว่าเป็นแค่ ‘เพื่อนสนิท’ และทั้งคู่มีความสบายใจที่จะเล่าได้ทุกเรื่องไม่มีปิดบัง เผยมุมมองความรักของทั้งคู่ที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายฉากนี้ก็ถูกตัดทิ้งเพราะหนังจะยาวเกินไป อีกทั้งใจความของฉากถูกอธิบายไว้ในฉากอื่นแล้วด้วย
Extended Scene : 10 ปี ของ ‘ปาล์ม’ กับ ‘กิ๊ง’
ส่วน Extended Scene หรือฉากที่ขยายเพิ่มขึ้นมานั้น เป็นฉากที่เล่าเรื่องในช่วง 10 ปีว่าปาล์มคบแล้วเลิกกับใครบ้าง ช่วยเสริมอธิบายที่มาที่ไปของ “ปาล์ม” มากยิ่งขึ้น
พี่เจื่อน (ผู้ลำดับภาพ) พูดถึง Extended Scene ว่าเป็นฉากที่ทำให้เห็นช่วง 10 ปีที่ปาล์มกับกิ๊งไม่เคยหายไปจากชีวิตของกันและกันเลย ส่วนเหตุผลที่พี่หมูตัดสินใจตัดทิ้งไปก็เพราะอยากให้เรื่องเดินเร็วที่สุด
ตัดต่อโดยคนเดิม เพิ่มเติมคือจังหวะใหม่
Timeline ในโปรแกรมการตัดต่อของ “FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน” ไม่ตาลายก็ให้มันรู้ไป !
พี่เจื่อน-ปนายุ มือตัดต่อรางวัลสุพรรณหงส์ เป็นมือตัดต่อคู่หูพี่หมูมาทุกเรื่อง ทั้ง "ซักซี๊ด ห่วยขั้นเทพ" และ "เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ" ซึ่งล้วนเป็นหนังวัยรุ่น มีความการ์ตูน ตัดไว ตัดฉับ Quick cut รัวๆ แต่สำหรับ "FRIEND ZONE ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน" เปลี่ยนมู๊ดให้แตกต่างโดยสิ้นเชิง เพิ่มสไตล์การตัดต่อที่ช้าลงและแตกต่างจากเรื่องอื่น แต่นั่น! ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพี่เจื่อน เพราะพี่หมูกับพี่เจื่อนสนิทกันแบบที่ว่าแค่มองตาก็รู้ใจ รู้ว่าพี่หมูต้องการงานแบบไหนก็สามารถตัดให้ได้เสมอ รวมถึงเป็นเพราะบทที่เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวกับเพื่อนที่ดูโตขึ้นกว่าเรื่องที่ผ่านมา โลเคชั่นที่ถ่ายทำในสถานที่ท่องเที่ยว หนังจึงต้องมีจังหวะอีกแบบหนึ่ง ทำให้ FRIEND ZONE ต้องมีสไตล์การตัดหรือเลือกเพลงที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั่นเอง
Magic Moment ของ พี่ส้วม
พูดถึงหนังแล้วไม่พูดถึงนักแสดงก็คงจะไม่ได้ ในงานนี้ พี่ส้วมก็มาในฐานะตัวแทนนักแสดงมาพูดถึงหนังเรื่อง FRIEND ZONE พี่ส้วมเล่าถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงกว่า 10 ปี ที่เคยทั้งเขียนบทและเล่นละครมาก่อน แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ใช่ว่าจะไม่มีวันท้อ เพราะอาชีพนักแสดงนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ แต่พี่ส้วมก็ตั้งใจไว้ว่าในชีวิตนี้จะต้องมีผลงานชิ้นเอกให้ได้! และยิ่งได้อ่านบท FRIEND ZONE ทุกฉาก ทุกไดอะล็อกก็ยิ่งอยากเล่นให้เต็มที่กับทุกวินาทีในหนัง เล่นไปตามที่ตัวละครรู้สึก จนทำให้คนดูรู้สึกอินตาม และจดจำพี่ส้วมได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนร่วมแก๊งค์ Friend Zone
พี่ส้วมเสริมอีกว่าอาชีพนักแสดงว่าเป็นเหมือนนักทดลองวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเก็บสถิติและฟีดแบคจากคนดูทุกครั้ง เพราะคนดูจะสัมผัสได้ว่านักแสดงรู้สึกยังไงตอนที่สวมบทบาทตัวละครนั้นอยู่ และจากผลการทดลองของพี่ส้วม ก็ทำให้รู้ว่าคนดูจะชอบมุขที่ด้นสดหรือที่เซอร์ไพร์สคนดูแบบคาดไม่ถึง เช่น ฉากบ้วนเบียร์ที่ต้องเล่นให้จังหวะเซอร์ไพรส์คนดู การบ้านของพี่ส้วมไม่ใช่การฝึกซ้อมบ้วนเบียร์มาจากที่บ้าน แต่คือการเรียนรู้ว่าการแสดงจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในฉากนั้นและเทคนั้นๆ ด้วย ซึ่งรีแอคชั่นในแต่ละเทคก็จะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญก่อนที่จะเซอร์ไพร์สคนดูได้นั้น ก็ต้องเซอร์ไพร์สผู้กำกับอย่างพี่หมูให้ได้ก่อน เล่นกันหลายเทค จนกลายเป็น ‘Magic Moment’ ที่พี่ส้วมบ้วนเบียร์ไปเข้าแก้วของเบสแบบเป๊ะๆ นั่นเอง หรือแม้กระทั่งฉากเบสแซงคิวตอนเติมเบียร์ในงานแต่ง ก็ล้วนเป็นสัญชาตญาณและไหวพริบของนักแสดงทั้งสองที่ไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อนแต่อย่างใด เมื่อเบสแซงคิว ก็ทำให้พี่ส้วมต้องพูดออกไปว่า ‘ขอโทษนะครับ ผมมาก่อน’
‘นาย’ & ‘ใบเฟิร์น’ VS ‘ปาล์ม’ & ‘กิ๊ง’
ส่วนนักแสดงอย่าง ‘นาย’ กับ ‘ใบเฟิร์น’ ที่ร่วมงานกันเป็นครั้งแรกก็ได้ ‘ครูบิว’ แอคติ้งโค้ชคู่ใจพี่หมูตั้งแต่เรื่อง ซักซี๊ด กับเมย์ไหนฯ มาช่วยทำให้นายกับใบเฟิร์นเหมือนสนิทกันมาเป็น 10 ปีจริงๆ โดยครูบิวจะให้ทั้งคู่ทำการบ้านกลับไปเขียน Background หรือปูมหลังของตัวละครมา ซึ่งจุดเริ่มต้นของตัวละครปาล์มกิ๊งคือช่วง ม.3 ที่ปาล์มเข้าไปตีซี้กิ๊งเพื่อให้ช่วยจีบสาวนั่นเอง แต่นอกจากการเข้าใจถึงบทบาทของตัวละครแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้นักแสดงเล่นออกมาได้ดี นั่นก็คือการทำให้นักแสดงสบายใจและสนิทใจกัน กลายเป็นความเชื่อใจจนกล้าที่จะปล่อยของออกมาได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
เข้าสู่ช่วง Q&A จากผู้ชมรอบพิเศษ
Q: อยากเป็นผู้กำกับต้องเริ่มต้นอย่างไร
A: (พี่หมู) เริ่มได้เลย เริ่มทำหนังด้วยตัวเองแล้วให้เพื่อนดู เริ่มจากดูจากงานที่เราชอบแล้วทำตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่งานที่ฉายให้คนอื่นดู เก็บค่าตั๋ว ค่าลิขสิทธิ์ ให้เริ่มจากเลียนแบบก่อน คนเราเริ่มจากเลียนแบบทั้งนั้น สิ่งที่ดีที่สุดของคนที่ทำหนังคือโมเม้นต์ที่หนังฉายแล้วเห็นฟีดแบ็คคนดู เช่น มุกนี้เราตั้งใจให้คนขำ เขาขำมั้ย ฝืดมั้ย ตลกมั้ย เศร้ามั้ย แต่ละจุดเราจะเช็คได้หมดเหมือนเฉลยข้อสอบเลย เราจะมารู้กันวันนั้นแหละ แล้วเราจะเติบโตขึ้นที่สุดในโมเม้นต์นี้ โมเม้นต์ที่ได้เช็คว่าสิ่งที่ตั้งใจไว้ที่สุดเป็นยังไง แล้วยิ่งทำซ้ำไปเรื่อยๆ ก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งเริ่มเร็วมากเท่าไหร่ เราก็จะเข้าสู่การเป็นผู้กำกับเร็วเท่านั้น
Q: ทำไมถึงเล่าให้รู้ว่าปาล์มกับกิ๊งชอบกันตั้งแต่ต้นเรื่อง
A: (พี่หมู) ผมคิดว่าถ้าไม่ได้ดู Trailer ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร ผมรู้สึกว่าช่วงแรกของหนังเรื่องนี้ เราจะค่อยๆ รู้ไปเองว่าสองคนนี้เขาเป็นอะไรกัน ตอนแรกเขาดูเป็นเพื่อนกันนะ เพราะเขาพูด ‘กู-มึง’กันในรถ เรายังไม่แน่ใจว่าเป็นยังไงกัน จนไปตามจับชู้พ่อ ก็ยังดูเป็นเพื่อนนะ จนกระทั่งปาล์มพูดว่า ‘ใครจะรักไม่รักมึงกูไม่รู้ แต่กูรักมึงนะกิ๊ง’ ก็ยังดูเป็นเพื่อนรักเพื่อนอะ จนกิ๊งถามว่า ‘รักแบบไหน’ นี่คือจุดเริ่มต้น Friend Zone
Q: การ Tie-in Sponsor กับการกำกับหนังมีศาสตร์และศิลป์อย่างไร
A: (พี่หมู) ต้องคิดว่า product อยู่ในเรื่องแล้วสอดคล้องกับเรื่องมั้ย แล้วค่อยไปหาสปอนเซอร์ซึ่งต้องมีที่มาที่ไปและกลมกลืนกับเรื่องให้ได้ อย่างฉากน้ำดื่ม ก็จะนึกถึงก่อนขึ้นเครื่องบินที่เราต้องทิ้งน้ำก่อนเข้าเกตเป็นประจำอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องเคารพคนดูด้วยครับ เราต้องดูแล้วไม่รู้สึกถูกยัดเยียด ต้องทำให้รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ มันอยู่ในเนื้อเรื่อง
Q: ถ่ายทำนอกสถานที่อย่างไรไม่ให้คนในพื้นที่นั้นมองกล้อง
A: (พี่หมู) เป็นวิธีการวางกล้องด้วย จริงๆ ฉากชเวดากองมีคนมองเยอะมาก แต่กล้อง pan ตามตัวละครอยู่ ทำให้เราไม่ได้โฟกัสคนเหล่านั้น
A: (พี่เจื่อน) รวมถึงระยะเลนส์ก็มีผล ภาพข้างหลังจะเบลอๆ ทำให้เรามองไม่เห็น
กว่าจะมาถึงร้อยนึง… ข้ามเส้นหร่อยเก้าซิบ (ล้าน) หนัง Feel Good ที่หลายๆ คนคิดว่าทำง่าย กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อหนัง Mass คนดูจะยิ่งคาดหวัง โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้ โอกาสที่จะซ้ำ จน cliche หรือรู้สึกซ้ำซากมันง่ายมาก การจะทำหนังให้รู้สึกว่าใหม่ และเซอร์ไพร์สจนชนะความคาดหวังคนดูนั้นคือสิ่งที่ยากที่สุดของการทำหนัง...