วิชา การออกแบบฮาวทูทิ้ง
‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ภาพยนตร์ที่หยิบเอาความเป็นมินิมอลที่มีหัวใจคือความเรียบง่ายมารีโนเวทให้กลายเป็นหนัง แต่ว่า ‘หนังมินิมอล’ เรื่องนี้ทั้งสิ่งที่ไม่เรียบและไม่ง่าย จึงเกิดเป็นกิจกรรมพิเศษ ‘ฮาวทูทิ้ง Q&A Week DESIGN/ARCHITECTURE ออกแบบ/สถาปัตยกรรม’ ผ่านพูดคุยเรื่องการออกแบบฮาวทูทิ้งอย่างถึงแก่นผ่านผู้เชี่ยวชาญนำโดยผู้กำกับ เต๋อ นวพล, ประธาน ธีระธาดา (art4d), ปิยพงศ์ ภูมิจิตร (Shake & Bake Studio) และเคลวิน หว่อง (KKELVIN)
It’s difficult to be simple.
- Raymond Carver
(1938-1988)
ปิยพงศ์ - “เต๋อถามว่าตอนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงอะไรบ้าง อย่างแรกเลยก็คือเรื่องมินิมอลที่จีนพูดถึงตลอด ที่บอกว่ามันคือพุทธๆ ถ้าไปสำรวจต่อมันก็เห็นอะไรสนุกๆ เยอะดี อย่างที่สองคือ Spatial design ในฉาก ถ้าทุกคนสังเกตดูว่าถ้าดูรอบสองจะสนุกว่ารอบแรกอีก คือดูพวกพร็อบ ดูของ ดูการค่อยๆ เปลี่ยนของมัน อย่างที่สามคือ Golden oldies of design ต้องถามพี่เคล ชวนพี่เคลมาคุยด้วยกันเลย”
เคลวิน - “คือผมประทับใจเรื่องบทหนัง แล้วก็ประทับใจเรื่องเซตฉาก ในมุมมองของคนที่เป็นดีไซเนอร์ คือมันเป๊ะครับ เรารู้สึกว่ามันใช่”
ประธาน - “ส่วนผมก็ดูรอบที่สองแล้ว รอบที่สองซึ้งกว่ารอบแรกอีก คือจริงๆ ผมเป็นแฟนคลับคุณนวพล ผมก็ดูทุกเรื่องของเขา ทุกเรื่องก็ดูมากกว่าหนึ่งรอบ ส่วนใหญ่หนังรอบแรกของเขา ผมก็มัวแต่จะตื่นเต้น ‘โห มันมามุกนี้เว้ย เอางี้เลยเหรอ คราวนี้มันแมสเว้ย’ อะไรอย่างนี้ ก็ดีใจกับเขาด้วย มาวันนี้ก็จะได้เห็นรายละเอียดเยอะ เสียงดนตรีมันเด้งมาก เสียงเปียโนเล็กๆ เสียงเครื่องเป่า ผมเห็นความเป็นมินิมอลในภาคดนตรี ตอนจบเพลงประกอบทำให้ผมนึกถึง John Pawson
John Pawson เป็นสถาปนิก แต่เขาถูกสมาคมสถาปนิกของอังกฤษบอกว่าเขาไม่ได้เป็นสถาปนิก เป็นแค่ที่ปรึกษาเพราะว่าเรียนไม่จบ เลยเป็นสถาปนิกไม่ได้ แต่ว่าเขาเคยกล่าวไว้ว่า ‘งานสถาปัตยกรรมมันไม่ได้แปลว่าการสร้างตึกใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่การได้มีโอกาสได้กลับไปเยือนสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และให้ความหมายใหม่กับมัน ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมอีกแบบหนึ่ง’ ตอนจบของหนังเป็นบทสรุปของคำกล่าวนี้เลย”
What is minimal?
ประธาน - “มินิมอลเป็นลัทธิศิลปะ คือทุกอย่างในโลกนี้มักจะเริ่มจาก Fine arts หรือศิลปะบริสุทธิ์ ก่อนที่จะแปรเป็นศิลปะประยุกต์ จากศิลปะมันก็จะกลายสถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์
“ศิลปะที่พัฒนามาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือยุคเรเนซองส์ ศิลปินจะโชว์ความสามารถของตัวเอง มันจะมีตัวตนของศิลปินในงานศิลปะเยอะมาก ทุกครั้งที่มีศิลปะกระแสหนึ่ง ก็จะมีศิลปะกระแสใหม่ขึ้นมาต่อต้านกระแสเก่า ศิลปะแนวมินิมอลเกิดมาเพื่อท้าทายตัวตนของศิลปิน มินิมอลบอกว่าไม่จำเป็นต้องเยอะ อันไหนตัดได้ตัดออก อันไหนที่มันจะเกินก็ตัดทิ้งไป จนสุดท้ายมันจะเหลือแค่ฟอร์ม ในยุคแรกๆ มินิมอลจะเป็นฟอร์มเรขาคณิต”
ปิยพงศ์ - “ศิลปินชื่อ Donald Judd เป็นศิลปินมินิมอลคนแรกๆ ที่เขาออกแบบและทำบ้านของเขาเอง อพาร์ตเมนต์ของเขาที่นิวยอร์กค่อนข้างได้รับความนิยม”
ประธาน - “ตอนที่เขาทำงานพวกนี้ คนก็เรียกเขาว่าเป็นมินิมอล แต่เขาไม่ยอมเรียกงานที่เขาสร้างว่ามินิมอล งานที่เขาสร้าง เขาจะเรียกว่าเป็น Specific object คือเขาพยายามให้คนสนใจฟอร์มมากกว่าสิ่งอื่นๆ อย่างก่อนหน้านี้จะมีงาน Pop Art ของ Andy Warhol ที่นำวัตถุมาพยายามใส่ความหมายอื่นๆ เข้าไป คือพวกนี้เขาจะไม่อยากใส่ความหมายอื่นนอกจากสี่เหลี่ยม วงกลม เส้นตรง แล้วคุยกันแค่นั้น”
นวพล - “จริงๆ มันเป็นการสู้กันทางศิลปะอย่างเดียว หรือว่ามีไอเดียทางสังคมที่ทำให้คนเริ่มคิดมาทางนี้”
ประธาน - “ผมว่าตอนนั้นเขาพูดเรื่องเดียวกับที่จีนพูดกับเจย์ว่า เราคนรุ่นใหม่ เราจะไปทำอะไรที่พวกรุ่นเก่าสร้างขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องของ Generation ที่พยายามสร้างแนวคิดของตัวเองขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทน เพื่อส่งเสียงของรุ่นตัวเอง ยุคนี้ก็จะเป็นแบบนั้น
“ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งสถาปัตยกรรมเอง ก็เกิดความเคลื่อนไหวที่คล้ายกัน แต่ว่ามันไม่เชิงจะมินิมอล เนื่องจากว่ามันเป็นยุคหลังสงคราม คนก็หันไปประดิษฐ์ Machine for living เครื่องอะไรสักอย่างสำหรับอยู่อาศัย ซึ่งเป็นยุคของการทำลายงานตกแต่ง สิ่งที่สถาปัตย์ยุคนี้ทำคือการนำเสนอสัจจะของวัตถุ”
มินิมอล
เรียบง่าย? เย็นชา?
ประธาน - “กลับไปที่ John Pawson เขามาจากครอบครัวที่ร่ำรวย สนใจงานสถาปัตยกรรม ตอนเรียนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปเจอวัฒนธรรมพุทธๆ แบบญี่ปุ่น ก็เหมาเอาว่านี่แหละมินิมอล ก็มาทำงานสถาปัตยกรรมโด่งดังมากในยุค 80s เขาก็คนหนึ่งที่เอาลัทธิมินิมอลมาใช้ในการทำงานที่เรียบหรู ไม่ต้องการอารมณ์ที่มีการตกแต่ง
หลายๆ คนมองว่าเขาเอาแค่ภาพลักษณ์ของลัทธิมินิมอลมา ไม่ได้เอาจิตวิญญาณทั้งหมดมา ในความเป็นจริงงานของจอห์น พอลสันจะแพงมากจนไม่มีความรู้สึกว่ามีความรู้สึกถึงการละหรือเลิก ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเอาฟังก์ชั่นเป็นตัวนำ แต่จอห์น พอลสันจะเน้นไปที่ภาพก่อน ความโล่งในแบบของมินิมอลเขาจะมีคำเรียกว่า Breathing space เป็นที่ที่เอาไว้หายใจอย่างเดียว ไม่ต้องมีฟังก์ชั่นอย่างอื่น”
ปิยพงศ์ - “คือต้องรวยมากจริงๆ ถึงจะเอาที่อย่างนิวยอร์กหรือลอนดอนมาทำให้มันโล่งๆ แบบนี้”
นวพล - “ในแวดวงสถาปัตย์ ความมินิมอลนี่มันดีหรือไม่ดี หรือมันโดนต่อต้าน”
ปิยพงศ์ - “การออกแบบภายในของมินิมอลคือจะทำอย่างไรให้มันเป็นมิตรและน่าอยู่ เพราะว่าส่วนมากมันจะดูแห้งๆ แข็งๆ แล้วก็เย็นชา ไม่ค่อยเหมาะกับการอยู่อาศัยเท่าไร”
ประธาน - “แต่มันเหมาะกับการแสดงสถานภาพของคนที่รวยจนไปถึงขั้นกลายเป็นสามัญไป คือรวยจนสามารถไม่ต้องพกอะไร”
ปิยพงศ์ - “ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบ้านพักตากอากาศของ David Chipperfield ที่สเปน ที่ตั้งของบ้านหลังนี้จริงๆ ไม่เหมาะกับการเป็นบ้านพักตากอากาศ แต่เขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมสามารถใส่เข้าไปในพื้นที่นั้นแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นได้”
บ้านของเอ็ม
ปิยพงศ์ - “อย่างดีเทอร์ แรมส์ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งผมอยากถามคุณเต๋อว่าทำไมถึงเลือกใช้ reference ของบ้านของ Dieter Rams มาอยู่ในหนัง”
นวพล - “ในตัวบทมันจะต้องมีแบบบ้านอันหนึ่งที่จีนเคยเห็นที่บ้านเอ็ม ผมก็เลยพยายามลองหาว่าจะเป็นบ้านแบบไหนที่จีนชอบ ซึ่งก็มาจากความชอบส่วนตัวผมด้วย จริงๆ ผมเคยเห็นบ้านเขานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าบ้านใคร จนได้เจอหนังสือเขา จริงๆ แล้วบ้านสุดท้ายของจีนก็จะคล้ายๆ บ้านของ Dieter Rams เลย แต่ในที่สุดเหมือนกับว่ามีความก้ำกึ่งเหมือนกันว่าจะใช้ไม่ได้เพราะว่าเราไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ได้ ก็เลยไม่สามารถใช้รูปของเขาได้ แต่ก็ยังโอเคเพราะอย่างน้อยเราก็มีแบบนี้ไว้ในใจ พอไปหาจนเจอบ้านของเอ็มที่อยู่ในหนัง ซึ่งมีพื้นกระเบื้องและรูปทรงของโครงบ้านที่คล้ายกับของ Rams เลยตัดสินใจทำบ้านเอ็มให้เหมือนกับบ้านของ Rams แทน ซึ่งก็ไม่เหมือนเป๊ะ แต่ก็ให้ความรู้สึกเดียวกัน
“การที่จีนกลับมาที่บ้านเอ็มก็คือเหมือนการได้กลับมาสู่ต้นกำเนิดของสิ่งที่จีนชอบ”
มินิมอล = นิพพาน
เคลวิน - “ผมมีคำถาม ทำไมคุณเต๋อถึงเลือกหยิบมินิมอลมาใช้เล่าเป็นหนัง”
นวพล - “คือผมรู้สึกว่ามินิมอลมันพูดถึงความว่าง เลยมีความรู้สึกว่าบ้านมินิมอลมันมีความรู้สึกเย็นชา มันไม่มีหัวใจ มันไร้อารมณ์ ซึ่งพูดถึงในเชิงว่าเป็นการไปสู่สภาวะนิพพานคือการไม่มีอะไรเลย มันเป็นภาวะที่ช่างแห้งแล้งในสายตาคนอื่น อันนี้เป็นไอเดียที่ว่าอยากให้เกิดการถกเถียงในหมู่คนดู
อีกอันหนึ่งคือเวลาเราจะไปสู่ความมินิมอล มันจะทำให้สิ่งนี้ดูแปลกแยกเสมอ คือมันคล้ายๆ ไอเดียการของไปสู่นิพพาน ซึ่งมันเป็นขั้วตรงข้ามของการมีชีวิต ถ้าคุณไปสู่ภาวะนั้นได้ คุณจะไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดสุข มันก็เลยกลายเป็นสภาวะที่แปลกแยกกับสภาพแวดล้อม”
ประธาน - “ในวัฒนธรรมไทยมันหาความมินิมอลยากมาก เพราะเราเป็นประเทศ ‘แม็กซิมอล’ คือทุกอย่างเราตกแต่งไปหมด แต่พอมันเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องความตาย เราจะเข้าใกล้ความเป็นมินิมอลขึ้น ซึ่งเป็นทางเดียวกับที่เกิดขึ้นทางตะวันตกคือเรื่องของความสงบ”
ปิยพงศ์ - “วัดที่เก็บกระดูกของแม่เอ็มคือที่ไหนนะครับ”
นวพล - “วัดธรรมมงคล แถวปุณณวิถี สามารถไปเยี่ยมชมได้ ตอนแรกก็เผื่อใจไว้แล้วว่าอาจจะไม่มีสถานที่แบบที่ต้องการ แต่ปรากฏว่ามี เวลาเราไปดู ที่นี่คือสวยงามมากๆ มีความกราฟิกและมินิมอลอยู่”
นักสะสม
นวพล - “พี่เคลวินเป็นนักสะสมด้วยใช่มั้ยครับ”
เคลวิน - “ก็นิดหน่อย แต่ไม่เยอะ”
นวพล - “ไม่เชื่อครับ (หัวเราะ) ผมได้ยินว่าพี่มีห้องเก็บลึกลับ”
เคลวิน - “ครับผม นิดหน่อย (หัวเราะ) คือตั้งแต่เด็กเรารู้สึกว่าสิ่งของบางอย่างที่เราเจอมันมีความทรงจำ เราก็เลยเก็บ นอกจากนั้นเราก็เป็นดีไซเนอร์ เราเก็บของที่เรารู้สึกว่ามัน touch กับเรา เราก็ใช้ความรู้สึกในของเหล่านี้ให้สะท้อนออกมาในงานเราให้มัน touch กับคนอื่นเช่นกัน ก็เลยเก็บ และ touch กับของเยอะแยะ spark joy ไปหมดเลย”
นวพล - “จริงๆ ตอนแรกที่จะต้องเลือกของเก่าที่ตัวละครจะต้องทิ้ง ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตอนแรกเวลาเรานึกถึงสิ่งที่เป็นของเก่าจะต้องเป็นยุคแฟนฉัน หรือยุคคู่สร้างคู่สม มันจะชอบนึกถึงแบบอัตโนมัติ มันเหมือนคงเป็นภาพจำของคำว่าของเก่าที่มันฝังอยู่ในหัว แต่เราลืมไปว่าตัวละครมันเด็กกว่าเราอีก เราเลยต้องขยับทุกอย่างขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งเป็นความไม่ชินประมาณหนึ่ง สมมติว่าเราบอกว่าจะทิ้งของเก่ามันควรจะเป็นเทป แต่มันไม่ใช่ มันเป็นซีดี เครื่องเล่น mp3 แผ่นผี”
เคลวิน - “ใช่ มันละเอียดมาก เลยอยากถามว่าทำไมถึงเลือกอัลบั้ม Love me love my life ของ โมเดิร์นด็อก มาประกอบในหนัง”
นวพล - “พอเราคำนวณยุค มันก็น่าจะยุคแถวๆ ปี 2000 ผมพยายามนึกว่ามันต้องเป็นแผ่นอะไรสักอย่างที่มีความหายากนิดๆ และคิดว่าจีนน่าจะชอบ เพราะว่าชุดนี้ที่ฮิตน้อยสุด แต่คนอย่างจีนมีสิทธิ์จะชอบ ถ้าฮิตน้อยสุดแปลว่าพิงค์จะเอาแผ่นนี้มาได้มันต้องมีความพยายามอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งก็มารู้ทีหลังว่ามีพี่เคลวินเป็นคนดีไซน์ปกอัลบั้ม หลังจากแคสต์พี่เขามาแล้ว ก็ดีมากครับมีความอินเซ็ปชั่น”
การออกแบบชีวิตให้ตัวละคร
นวพล - “จริงๆ พยายามคิดว่าตัวละครมีชีวิตประมาณไหน แล้วน่าใช้ของอะไร จริงๆ ก็คือพื้นฐานของการทำ production disign แต่ว่าต้องคิดละเอียดกว่า เพราะว่าหนังมันเกี่ยวกับห้องและอยู่ในห้องตลอดเวลา แล้วก็ไม่มีเวลาแนะนำตัวละครเยอะขนาดนั้น เราก็เลยต้องใช้ของที่อยู่รอบๆ ในห้องของตัวละครคอยอธิบาย ซึ่งเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนดูอาจจะไม่ได้รู้สึก เช่น ในห้องจีนจะมีพวกกล่องพลาสติกเยอะๆ วางเป็นภูเขา เพราะผมคิดว่าเมื่อสามปีที่แล้ว จีนคิดว่าคงไม่ได้กลับมาที่นี่เท่าไรหรอก ก็เลยแพ็กของใส่กล่องไปหมดเลย”
หรือห้องของเอ็มที่คิดลงไปอีกสเต็ปหนึ่งคือมันจะต้องเป็นของที่มีความสัมพันธ์กับจีนด้วย ถ้าเกิดจีนได้รับอิทธิพลมากมายมาจากผู้ชายคนนี้ มันก็จะต้องมีของอีกหลายอันที่มันเชื่อโยงกับแบ็กกราวด์ของเขา เช่น ตอนเดินสำรวจห้องจะต้องเจอกับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสวีเดน หรืออย่างพวกบอนไซที่คิดมาจากว่าผมอยากได้ของที่เป็นของจีนที่ดูมีชีวิต ซึ่งถ้าเกิดเอ็มไม่รักจีนแล้วก็คงปล่อยมันตาย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดจีนกลับมาที่ห้อง แล้วต้นไม้มันยังไม่ตาย แปลว่าเขายังดูแลรดน้ำอยู่ จริงๆ มีเต่าด้วย แต่เล่าไม่ทัน แรกๆ คิดไปถึงแมวด้วย แต่รู้สึกว่ามันจะเยอะไปแล้ว
เพราะฉะนั้นมันจะยากในการที่จะเลือกว่าเป็นของอะไร เพราะมันจะเป็นอะไรก็ได้ เลยต้องคิดจากฟังก์ชั่นก่อน”