Sign in with:
Google

เจอเธอระหว่างตัด 'ฮาวทูทิ้ง'

Updated at: 2024-12-27 19:55

เจอเธอระหว่างตัด

เรื่องราวน่าสนใจที่ได้พบระหว่างการตัดต่อ ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ จากปากคำของ ‘อาร์ม-ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต’ นักตัดต่อมากผลงาน ประสบการณ์ และรางวัล ผู้ที่ตัดต่อหนังให้กับเต๋อมาตั้งแต่ ‘36’, ‘Mary is happy, Mary is happy’, ‘Die tomorrow’, ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ และเรื่องล่าสุด ‘ฮาวทูทิ้ง’

หลังจากที่ฟังเขาเล่า เราคิดว่าการตัดต่อหนังเรื่องนี้มีอะไรคล้ายๆ กับการจัดบ้านมากทีเดียว

ป.ล. ระวังหน่อยนะ มีสปอยล์ 
 




หลังจากที่ตัดต่อหนังให้กับเต๋อมาหลายเรื่อง อาร์มบอกว่า “พี่เต๋อเปลี่ยนไป”

“การตัดหนังแต่ละเรื่องจะไม่เหมือนกัน เพราะโจทย์ที่ต่างกัน โดยเฉพาะการตัดฮาวทูทิ้งฯ ที่ต่างจากเรื่องก่อนๆ ของพี่เต๋อ คือตัวพี่เต๋อเองที่ไม่เหมือนเดิม พี่เต๋อเปลี่ยนไป แต่เป็นไปในทางที่ดีนะ คือมีประสบการณ์มากขึ้น

การที่ทำหนังด้วยกันมานาน ทำให้การพูดคุยกันเรื่องการตัดต่อนั้นง่ายขึ้น เพราะว่าเราเข้าใจกัน พี่เต๋อมีประสบการณ์จากหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ทำให้นิ่งขึ้น ดูโปรฯ ดูมืออาชีพขึ้น บอกกับเราได้ว่าอยากได้อะไร ทำให้การทำงานสบายขึ้น เป็นระบบ ทำงานไม่เลิกดึกเลยนะ อย่างเราเข้า 11 โมง ออก 2-3 ทุ่ม แต่พอทำงานกันมากขึ้น ในทางหนึ่งมันก็ดูแปลกๆ เพราะบางเรื่องมันง่ายขึ้น แต่ก็ไปยากกับอีกเรื่องหนึ่งแทน”

ในระหว่างการตัดต่อเรื่องนี้ อาร์มจะให้พี่เต๋อจะนั่งอยู่ด้วยระหว่างตัด ซึ่งเป็นวิธีที่อาร์มที่เลือกเอง

“เพราะเราว่าเขามีความเฉพาะตัวสูง ระหว่างที่ทำก็อยากรู้ว่าพี่เต๋อคิดอะไร ไม่ใช่พี่เต๋อบังคับนะว่าต้องใช้วิธีนี้ เราอยากรู้เองว่าในหัวเขาเป็นยังไงประมาณหนึ่งก่อน การนั่งตัดด้วยกันดีกว่าไปนั่งทำเองเป็นวันๆ แล้วตัดมาไม่ถูกเลย มันเสียเวลาเปล่า”
 




การทำงานกับเต๋อง่ายขึ้นก็จริง แต่เป็นตัวหนังเองที่มีความยากเฉพาะตัว

“เราว่าหนังเรื่องนี้มันเซนซิทีฟ ที่ไม่ได้หมายถึงว่าดูแล้วร้องไห้นะ แต่ในแง่ที่ว่าตัวละครพูด 10 ประโยคในหนึ่งซีน พอตัดออกไปประโยคนึง ปรากฏว่าตัวละครเปลี่ยนไปเลย ตัดกันสิบแปดเวอร์ชั่น เวลาจะเปลี่ยนอะไรกันแต่ละที เราจะต้องคุยกันตลอด อย่าง ‘จีน’ เป็นคนยังไงกันแน่ จริงๆ แล้วการตัดหนังเรื่องนี้เป็นการกำหนดจีนว่าจะแค่ไหน มันจะทำสิ่งนี้เพราะอะไร คุยกันเรื่องนี้บ่อยกว่าคัตติ้งอีก มันส่งผลหมด เพราะเรื่องนี้มันเซนซิทีฟมาก ไดอะล็อกมันสำคัญ เวลาตัวละครพูดอะไร คนจะตั้งใจฟัง เพราะด้วยตัวหนังมันเงียบ การพูดอะไรสักหนึ่งครั้ง แม้แค่คำเดียวมันก็มีผลมาก ความยากของหนังเรื่องนี้คือการตัดสินใจเลือกว่าจะเอาอะไรอยู่อะไรไป ซึ่งก็ต้องผ่านการทดลองกัน ตอนแรกพี่เต๋อเขียนบทมา เขาก็จะคิดอีกอย่างหนึ่ง พอทำตามบทไปเขารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ ก็ต้องมีการพลิกไปพลิกมา”

“อย่างฉากที่ตัดแล้วส่งผลกระทบกับตัวจีน คือฉากตอนที่จีนเอากล้องไปคืนเอ็ม ซึ่งในหนังน้ำตาจีนจะแค่คลอๆ แต่ในดราฟแรกๆ จีนร้องไห้ออกมาเลย มันฟูมฟายจนงงว่าฟูมฟายอะไร คือจริงๆ ฉากนั้นจีนมันเขียนคำขอโทษเอ็มใส่กระดาษเตรียมมา แล้วเปิดอ่านให้เอ็มฟัง ดูแล้วสงสัยว่าอันนี้ร้องไห้เพราะรู้สึกจริงๆ หรือเปล่า มันทำให้รู้สึกว่าตัวละครอย่างจีนมันไม่มีหัวใจ ทำให้เราไม่เชื่อในซีนนี้ไปทั้งซีนเลย ก็เลยตัดสินใจเอาออก”
 


จีน คนไม่มีหัวใจ

“จริงๆ แล้วพี่เต๋อดีไซน์ให้จีนเป็นคนไม่มีหัวใจ ในดราฟท์แรกๆ มีการใส่เพลงประกอบ แล้วพี่เต๋อบอกว่าจีนมีหัวใจเกินไป ก็ลองเอาเพลงประกอบออก ปรากฏว่าจีนกลายเป็นไร้หัวใจไปเลย จนดูยากและกระทบกับเรื่อง ทำให้ต้องบาลานซ์ความไม่มีหัวใจของจีนให้พอดี เพราะถ้าไม่มีหัวใจมากไป จีนก็จะไม่ทะเลาะกับพิงค์ว่าต้องไปคืนของ แล้วหนังทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้น”
 


การตัดต่อคือการเรียงลำดับเรื่องและอารมณ์ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและคนดูคล้อยตามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภารกิจหลักของการตัดหนังเรื่องนี้คือการจัดวางให้ถูกที่ถูกตำแหน่ง

“เรื่องนี้เรียงลำดับซีนใหม่ค่อนข้างเยอะ ตอนแรกเรื่องเปียโนของพ่อจะปรากฏเข้ามาเป็นระยะตลอดเรื่อง แต่ในตอนตัด มันถูกขยับไปรวมอยู่ช่วงท้ายๆ มากขึ้น เพราะเรื่องเปียโนเป็นเรื่องที่บีบหัวใจของจีนที่สุด พออยู่ตรงกลางแล้วรู้สึกแปลก เพราะจริงๆ มันยังไม่ถึงขั้นนั้น มันเหมือนตัวละครถูกคนทำหนังบังคับให้ต้องทำ

หรือฉากที่เจย์เจอรูปครอบครัวสมัยก่อน ตอนแรกก็อยู่กลางเรื่อง เพราะพี่เต๋อกลัวคนดูลืม จึงค่อยๆ แทรกเรื่องครอบครัวเข้ามาเป็นระยะ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจย้ายพาร์ทครอบครัว ไปไว้ช่วงท้ายเพื่อให้เพื่อมันทำงานที่สุด”
 




ก่อนจะมาเป็นฮาวทูทิ้ง ในแบบที่เห็น หนังเรื่องนี้เคยเกือบเป็นหนังตลกมาก่อน

“ตอนแรกที่เราทำกันจะมีความเล่นๆ เยอะ มีเล่นมุก ตัดแบบตลกมาก แต่สุดท้ายเอาออกไปหมดเลย เพราะว่าตัวหนังไม่ได้ตลก

คือเรากับพี่เต๋อมีความกวนๆ แบบอยู่ดีๆ ก็ใส่เพลงเสก โลโซ หรือคัทติ้งให้ตัวละครดูเพี้ยนๆ ไปเลย แต่ว่ามันต่างจากฟรีแลนซ์ฯ ที่ยุ่นเป็นตัวละครที่เราดูแล้วเราตลกกับมันได้ แต่จีนไม่ได้เป็นตัวละครแบบนั้น ถึงแม้คนตัดจะชอบเพราะว่าตลกดี แต่ว่าสุดท้ายก็ต้องตัดทิ้งเพราะมันไม่เข้ากัน หนังเรื่องนี้มันมีเพดานความตลกได้แค่นิดเดียว ตลกได้แค่แบบซีนส่งของที่ไปรษณีย์ เพราะหนังซีเรียสมาก ตลกมากก็ไม่ได้ ตัวจีนเป็นคนจริงจัง เลือกเบอร์ประมาณนี้ดีกว่า อย่าไปตลกเยอะเลย”
 


ฮาวทูทิ้ง ไม่ใช่หนังพล็อต

“เราว่ามันไม่ใช่หนังพล็อตขนาดที่เราจะเอาความเป็นจริงของพล็อตเข้าไปจับมันได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องตัวละคร จึงพยายามคิดให้เป็นคนว่ามันควรจะรู้สึกอะไรตอนไหน มันจึงถูกคิดด้วยวิธีการของคาแรคเตอร์มากๆ ทุกอย่างจะยึดจากคาแรกเตอร์หมด ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือจังหวะของเพลง

เราอยากเรียกว่าเป็นหนังแบบ character study มากกว่า เพราะเราเรียนรู้จากตัวละคร เราอยากรู้ว่าตัวละครเป็นคนยังไง พอมันเป็นแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าการอินหรือไม่อินไม่ผิด เพราะว่าเราเหมือนดูว่าคนๆ นี้มันเป็นคนยังไง มันไม่ใช่ว่าคนทุกคนต้องเป็นเหมือนจีน เพราะจีนก็ไม่ตัวละครประเภทที่คนดูจะรัก คือก็เห็นว่ามีทั้งคนอินและคนไม่ชอบ ในทางหนึ่งก็จะมีคนเข้าใจมากๆ ว่าจีนทำเพราะอะไร เพราะจีนถูกดีไซน์ออกมาเป็นแบบนั้น เพราะจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว สิ่งที่ต้องทำก็คือทำให้ตัวละครอย่างจีน ดูเมกเซนส์ที่สุด สมูธที่สุด ซึ่งที่พยายามทำทั้งเรื่องคือสิ่งนี้ ว่าทำไมตอนจบจีนถึงต้องทำแบบนั้น”
 




หัวใจของหนังเรื่องนี้ ก็คือหัวใจของจีน

“จีนมันจำเป็นต้องผ่านเรื่องราวทั้งหมดก่อน ต้องทำให้จีนมีหัวใจมากที่สุด แล้วทำลายหัวใจมันทิ้ง ก็จะทำให้จีนกลายเป็นคนไร้หัวใจมากกว่าเดิม นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดทั้งเรื่อง ทำให้สิ่งนี้มัน make sense ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มากกว่าที่จะไปทำให้ตัวละครกลายเป็นคนที่คนอื่นชอบ ซึ่งจีนไม่ได้เกิดมาเป็นสิ่งนั้น คนแบบที่ทิ้งแฟนที่สนามบิน ซึ่งไม่ได้ผิด แค่เป็นเหตุผลของมัน ถึงแม้มันจะเป็นคนแบบนี้ ไม่ต้องรักก็ได้ ขอแค่ให้เข้าใจมัน..

เพราะเราไม่ใช่จีน และก็จีนไม่ใช่เรา แต่เราก็อาจเป็นแบบจีนในบางครั้ง”