Sign in with:
Google

ฮาวทูทิ้ง กับจิตวิทยา ธรรมะ และความรัก | PSYCHOLOGY

Updated at: 2024-12-28 07:29

ฮาวทูทิ้ง กับจิตวิทยา ธรรมะ และความรัก

หลังจากภาพยนตร์ ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ปรากฏสู่สายตา หลากหลายความเห็นสะท้อนกลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของตัวละคร การกระทำ และความสัมพันธ์ของพวกเขา ที่ก่อให้เกิดการถกกันอย่างกว้างขวาง นำมาสู่กิจกรรมพิเศษ ‘ฮาวทูทิ้ง Q&A Week Psychology จิตวิทยาและความสัมพันธ์’ ผ่านการพูดคุยกับผู้กำกับ เต๋อนวพล ร่วมด้วย ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ (นักจิตวิทยาคลินิก), ดร. ณัชร สยามวาลา (นักเขียนและนักดาบที่สนใจเรื่องสติและสมอง) และดีเจพี่อ้อย นภาพร

ป.ล. มีการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์ โปรดใช้วิจารณญาณระหว่างอ่าน

 

 

[ทำไมเราถึงเกลียดจีน ทำไม..เราถึงรักจีน]

นวพล - “จีนเป็นตัวละครที่สร้างกระแสมากที่สุด มีทั้งคนเข้าใจในตัวจีนมาก และคนที่เกลียดไปเลย แทบจะเรียกได้ว่าครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเป็นเป็นความตั้งใจให้ตัวละครทุกตัว เป็นตัวละครที่มีความ ‘50/50’ ให้คนดูตั้งคำถามว่าสิ่งที่ตัวละครเป็นหรือทำนั้นผิดหรือถูก ซึ่งได้ผลมาก จนขนาดคนที่ทำหน้าที่คัดเลือกนักแสดงยังเถียงกันว่าสิ่งที่จีนทำนั้นมันถูกหรือผิด”
 


ดร. กุลวดี - “จริงๆ แล้วจีนเป็นตัวละครที่มีมิติและลึกซึ้งมาก โดยส่วนตัวมองว่าในอดีตเขาคงเจ็บปวดมามากพอสมควร กับการที่ถูกคุณพ่อทิ้งไป เด็กหลายๆ คนมักตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเป็นเพราะเราหรือเปล่า ที่มีส่วนผลักดันให้เขาออกไป จากชีวิต โดยส่วนตัวคิดว่าจีนแบกความรู้สึกนี้เอาไว้อยู่ การที่จีนไขว่คว้าไปเรียนต่อนั้นเพื่อที่จะเขียนเรื่องราวของตัวเองใหม่ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตัวเอง

หัวใจของหนังเรื่องนี้คือการที่จีนต้องกลับมาเผชิญหน้ากับเอ็มอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเรามองที่มาที่ไปของจีน เขาเคยถูกคุณพ่อทิ้งมาก่อน เวลาเราถูกทิ้งเราจะรู้จักความเจ็บปวดนั้น ไม่มีใครที่อยากตอกย้ำความเจ็บปวดที่เราเคยได้รับมา เมื่อเรามีความสัมพันธ์กับใครสักคน เราก็อาจยังมีความคิดอยู่ว่าถ้าเรามีความสัมพันธ์ต่อไปเราจะถูกทิ้งไหม หลาย ๆ คนจึงเลือกที่จะเป็นฝ่ายทิ้งก่อน แทนที่เราจะต้องเป็นฝ่ายได้รับความเจ็บปวดแบบนั้น

ในเชิงจิตวิทยา จีนใช้กลไกการป้องกันตัวเองที่ชื่อว่า Rationalization คือการใช้เหตุผลมาอธิบายการกระทำของตัวเอง เช่น การไปเรียนต่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่า หรือบอกตัวเองว่าเอ็มก็อาจอยู่ได้ดีแล้วที่ไม่มีเรา เอ็มจะได้มีชีวิตของเขาเอง ซึ่งกลไลการ ป้องการตัวเองทุกคนมีเหมือนกันหมด ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่ มันเป็นธรรมชาติของเราที่เราจะปกป้องตัวตนของเราเองในเวลา เรารู้สึกไม่ดี เราก็อยากทำให้ตัวตนหรือ Ego ไม่ให้ได้รับความเจ็บปวด ไม่ให้เราเองรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เราทำ

การเป็นจีนต้องใช้ความกล้าอย่างมาก การจะตัดสินใจอะไรที่ไม่เคยทำ เผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง จีนต้องใช้พลังอย่างมากในการผลักดันตัวเองให้ทำอย่างนั้นได้”
 


ดร. ณัชร - “ดาบซามูไรนั้นคมชนิดที่ว่าสามารถผ่ากระสุนที่วิ่งมาได้ แต่เวลาเรียนดาบขั้นสูงซึ่งต้องใช้ดาบจริงซึ่งคมมาก ตัดเสื่อตาตามิที่ตัดยากมาก ซึ่งจะตัดไม่ขาดถ้าไม่ตัดใจ วิชาดาบขั้นสูงสอนว่าถ้าท่านไม่ตัดใจจากความอยาก ไม่ตัดใจจาก ความกลัว ไม่ตัดใจจากความโกรธ จะตัดเสื่อตาตามิให้ขาดไม่ได้ ก็เหมือนคาแรกเตอร์อย่างจีน ในประเด็นของนักดาบหรือ ผู้ที่สนใจเรื่องสติ ถ้าไม่ตัดใจปล่อยวาง หรือมีสติรู้ตัว ตัดอย่างไรก็ตัดไม่ขาด”

ดีเจพี่อ้อย - “คือจริงๆ เราคงเป็นคนที่นั่งฟังความรักมาอยู่เรื่อยๆ และเชื่อว่าหนังเรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง’ ที่หลายคนอยากเข้าไปดูเพราะรู้สึก ว่าฉันเคยเป็นส่วนหนึ่ง หรือครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเคยโดนแบบนี้แน่นอน แต่ถามว่าดูจนจบแล้วคิดว่าจีน ‘ทิ้ง’ หรือ ‘เก็บ’ คำตอบคือ ‘เก็บ’ นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึก จีนไม่ได้ทิ้งอะไรเลยสักอย่างหนึ่ง เราจะเจอความสัมพันธ์ประเภทที่ บอกรักบอกต่อหน้า ตอนบอกลาใช้หายเงียบ มีเยอะมากที่ใช้วิธีการแบบนี้เพราะกลัวรู้สึกผิด จีนสะสมความรู้สึกผิดไว้ตลอดเรื่อง และคิดว่าการพยายามเอาของไปคืน เพราะจีนรู้สึกผิด และในที่สุดก็ยังสะสมความรู้สึกผิดไว้จนซีนสุดท้าย ถ้าถามว่าเราจะต้องรักหรือต้องเกลียด เอาเป็นว่าเฉยๆ ก็เขาได้ แค่รู้สึกว่าเขาคือคนๆ นึงที่มีเยอะมากในยุคนี้ ที่รักตัวเองและไม่อยากรู้สึกผิดจนไปเบียดเบียนคนอื่น และความรู้สึกผิดก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะยิ่งหนี มันยิ่งอยู่ ความเป็นจริงความรู้สึกผิดนั้น ไม่ต้องทิ้งหรือเก็บ แค่เผชิญหน้ากับมัน แต่จีนเป็นคนที่หนีทุกอย่าง”

นวพล - “เวลาผมเขียนตัวละครพวกนี้ ผมเขียนด้วยความรักมันทั้งหมดเลยทุกตัวละคร อย่างจีนคนดูจะรู้สึกเกลียด แต่เวลาเราเขียนถึงเขาเราเขียนด้วยความเข้าใจมากๆ มันมีปมบางอย่างที่มันแก้ไม่ได้ แล้วมันไม่รู้จะทำอย่างไรจริงๆ เหมือนคนเราบางทีก็เหมือนจะเห็นประตูอยู่ตรงนั้น แต่ไม่รู้ว่าจะเดินไปอย่างไร แล้วดันเดินไปอีกทางหนึ่ง โชคร้ายที่จีนเป็นคนที่ทำความดีไม่ขึ้น”
 


[สิทธิ์ในการไม่ให้อภัยของเอ็ม]

นวพล - “มีคำถามว่าคนเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยหรือเปล่า เอ็มเป็นละครที่มูฟออนในแบบของมันเอง ตอนเขียนตัวละครบางตัวเช่นเอ็มหรือแม่ คนจะมองว่าเค้าไม่มูฟออน แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นมูฟออนในวิธีของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วก็ลอกวิธีของจีนมาอีกที”

ดร. กุลวดี - “ถ้าถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยหรือเปล่า เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกให้อภัยหรือไม่ให้อภัยก็ได้ บางครั้งเราก็เหมือนถูกกดดันจากคนรอบข้างว่าเราจะต้องให้อภัย ถ้าเราเลือกที่จะให้อภัย เราก็ควรให้อภัยเมื่อเราพร้อม เพราะว่าการที่ให้อภัยต้องผ่านกระบวนการการสูญเสีย เราต้องรับรู้ว่าเราสูญเสียอะไรบางอย่าง อาจจะความคิด ความคาดหวัง เมื่อเราผ่านความเสียใจกับความสูญเสียก่อน เราถึงจะพร้อมที่จะให้อภัย แต่ละคนมีความพร้อมที่จะให้อภัยไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นว่าเราจะต้องให้อภัยถ้ายังไม่พร้อม

การให้อภัยไม่จำเป็นต้องเป็นคนสองคน การให้อภัยก็คือการทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อที่เราจะได้ไปข้างหน้าได้ มันจึงเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน และเราก็มีวิธีมูฟในวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการให้อภัยด้วย”
 


นวพล - “จุดหนึ่งที่ผมนึกได้ตอนเขียนบทก็คือ มันเหมือนเป็นเรื่องรอบข้างที่คนอื่นชอบบอกเราว่าถ้าเราทำผิดต่อใครเราควรจะเดิน ไปขอโทษเขาอย่างกล้าหาญ กับถ้าเขามาขอโทษแล้ว เราก็ควรจะให้อภัย มันเป็นไอเดียที่ผมพยายามเล่นตอนเขียนบทเหมือนกัน”

ดร. ณัชร - “ที่จีนเป็นทุกข์เพราะว่าเขาไปขอโทษแล้วเขามีความคาดหวัง แล้วพอไม่เป็นไปตามคาดหวัง เขาก็รู้สึกแย่ ถ้าเป็นทางพุทธศาสนา การให้อภัยเป็นไปเพื่อจิตใจตัวเอง มันไม่ได้เป็นการเห็นแก่ตัว คนที่สามารถประคองใจให้เป็นกุศลใน ทุกขณะจิต นี่คือเป้าหมายการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ส่วนเขาจะให้อภัยด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องของเขา

สำหรับประเด็นว่าเอ็มมีสิทธิ์ให้อภัยหรือเปล่า ในที่สุดแล้วมันกลับไปที่ใจของเอ็มเอง ถ้าเขายังไม่ให้อภัย ในที่สุดแล้วคนที่มีความรุ่มร้อนในใจก็คือตัวเอ็มเอง และความรู้สึกนี้จะตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง เหมือนความรู้สึกของจีนในตอนจบ”
 


ดีเจพี่อ้อย - “เราไม่ได้รู้สึกว่าเอ็มไม่ให้อภัย จริงๆ เอ็มให้อภัย แต่ด้านความรักคือให้อภัยแล้วทำไมไม่กลับมารักกัน ในมุมหนึ่งการ มูฟออนของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างที่บอก แต่วิธีการอย่างเอ็มคือการดึงใครสักคนเข้ามาในชีวิต และคิดว่าการที่ฉันจะลืมคน เก่าได้ ฉันต้องมีคนใหม่ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราพูดกันอยู่เสมอ ถ้าคนเก่ายังอยู่ในใจ อย่าดึงคนใหม่เข้ามาเจ็บ เพราะไม่มีใครอยากจะเป็น ดาราสมทบ ให้เขาคบเพื่อประชดคนเก่า มันทำให้เราเห็นว่าการดึงคนใหม่เข้ามา มันไม่ได้ทำให้เราเจ็บน้อยลง ไม่ว่าจีนจะกลับหรือ ไม่กลับมา

แต่เรื่องจริงในชีวิตคือคนที่ได้รับการขอโทษ ไม่จำเป็นต้องให้อภัยเสมอไป ทุกคนมีสิทธิ์ในการประคองหัวใจตัวเอง เอ็มจะให้อภัยหรือไม่เป็นเรื่องของเอ็ม ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่ให้อภัย เพียงแต่สิ่งที่เขาอยากได้กลับไม่ได้ และมันทำให้ชัดเจนขึ้นว่า คนที่อยู่ใกล้ๆ ได้แต่อยู่ข้างๆ ไม่ได้อยู่ในหัวใจ”
 


[แม่ผู้ยินดีที่จะจมอยู่ในอดีต]

นวพล - “ส่วนแม่เป็นตัวละครที่ลึกลงไปอีกสเต็ปหนึ่ง คนที่ยินดีที่จะอยู่กับอดีต มันเลยเกิดการต่อสู้ระหว่างคนที่ยินดี จะอยู่กับคนที่อยากจะมูฟออนตามเรื่องคือจริงๆ แล้วยังมีความหวังที่สามีจะกลับมา อย่างที่เปียโนยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะหวังว่าเจ้าของเปียโนเขาจะกลับมา ผมคิดอย่างนี้มากกว่า”
 


ดีเจพี่อ้อย - “จริงๆ แม่ก็มีวิธีการมูฟออนของแม่เอง เพียงแต่อย่าลืมว่าแม่อยู่กับอดีตนานกว่าลูก ลูกเกิดมากี่ปีที่เห็นพ่อ แม่เห็นตั้งแต่ตอนที่เขารักกัน เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะไม่ใช่ว่าเขาไม่มูฟออนถึงจะร้องเพลงเดิมๆ แต่ก็เป็นคนสุขของเขา ไม่อย่างนั้นแม่คงทุกข์ทรมานกว่านี้”

นวพล - “ผมเลยคิดว่าทุกตัวมันมูฟออนในแบบของเขา แม้ตัวละครจะมองกันและกันว่าแม่มันจมอยู่กับอดีต ในฐานะคนเขียน เรารู้สึกว่ามันเป็นทางของเขา แต่โชคไม่ดีที่วันนี้แต่ละทางมันมาชนกัน แล้วมันเลือกได้แค่อย่างเดียว”
 


[เจย์ผู้ไม่มีเสียง]

ดีเจพี่อ้อย - “จากในหนัง ประโยคที่จีนกับเจย์คุยกันคือ ‘นี่มันยุคของเราแล้วนะเว้ย’ ที่อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว จีนกับเจย์อยู่ยุคเดียวกัน แต่เจย์เป็นคนที่รับฟังคนอื่น และเจย์มักจะโอบน้องอยู่ตลอดเวลา เลยไม่ได้รู้สึกว่าเจย์ละเลยความรู้สึกของตัวเอง แต่เจย์เป็นคนเจนนี้ที่รับฟังคนอื่น”

นวพล - “เรื่องโอบเนี่ย ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในบท นั่นโอบเอง ซึ่งดีมาก เพราะออกแบบก็ร้องไห้เละเทะไป เพราะนักแสดงส่งถึงกัน”


ดร. กุลวดี - “เราประทับใจกับบทของเจย์มาก โดยส่วนตัวมองว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงต้องมีเจย์ เพราะเจย์เป็นคนที่ประคับประคองครอบครัว เป็นคนกลางระหว่างแม่กับจีน เป็นตัวละครที่เราไม่เห็นความรู้สึก ไม่เคยมีใครถามถึงความรู้สึกของเจย์ในหนังเลย ตัวละครแบบนี้มีมากในชีวิตจริง คนที่สามารถจัดการเรื่องในครอบครัวได้ มันเลยเหมือนเป็นการลงโทษคนที่สามารถจัดการได้ ว่าเขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง เหมือนเป็นการละเลยตัวเขา

ในชีวิตของคนเรา บางครั้งเรามีบทบาทนั้นอยู่ เราทำ เราจัดการได้ทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ถูกละเลย เพราะเป็นคนที่จัดการตัวเองได้ ในวันที่พ่อทิ้งไป เจย์ก็คงเสียใจไม่ต่างจากจีน แต่เจย์จำเป็นต้องขยับขึ้นมาประคับ ประคองให้ครอบครัวนี้อยู่ได้

สิ่งที่เจย์ทำก็เหมือนตัดขาดความรู้สึกของตัวเอง ภาษาเชิงจิตวิทยาเรียกว่า Intellectualization ไม่อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ถึงความรู้สึก เช่นสมมติว่าเราชวนเจย์คุย เจย์จะไม่พูดถึงความรู้สึก แต่เจย์จะพูดถึงความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ว่าไม่เข้าถึงความรู้สึกของตัวเอง เพราะว่าถ้าเขารับรู้ความรู้สึกของตัวเองเมื่อไร ego หรือตัวตนเขาจะเซ เราก็เหมือนกับเจย์ที่บางครั้งละเลยความรู้สึกตัวเอง”
 


[ไม่เป็นไร..เราเข้าใจ]

ดร. ณัชร - “การโดนทิ้งมันขึ้นอยู่กับว่าจบสวยหรือไม่สวย จบสวยคือจบอย่างเข้าใจได้ แต่ในกรณีของมี่ที่บอกว่า ‘ไม่เป็นไร เราเข้าใจ’ มันเข้าใจได้จริงๆ หรือ คำถามแรกของคนที่ไม่เคยฝึกสติมาก่อนจะถามตัวเองคือ ‘ทำไมต้องเป็นเรา’ แต่สำหรับคนที่ฝึกสติคือมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เราทิ้งเขา เขาก็ทิ้งเรา ก็เป็นธรรมดา ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ มองว่ามี่ก็เข้าใจได้ระดับหนึ่ง คือเข้าใจในระดับเหตุผลและตรรกะ เป็นการเข้าใจระดับสมอง ไม่ใช้ระดับหัวใจ ซึ่งมันเป็นทุกข์มาก”

 

ดีเจพี่อ้อย - “ประโยคดราม่าที่พูดบ่อยคือ ‘เข้าใจค่ะ แต่ยอมรับมันคนละเรื่อง’ ถามว่ามี่เข้าใจไหม เชื่อว่าเข้าใจ แต่เขาคงไม่ได้ยอมรับ แต่มันทำไงได้ หลายครั้งที่เราเห็นคนคนหนึ่ง ‘ทำได้ไงวะ แกยอมทำใจ แกยอมเข้าใจกับที่แฟนเก่าเขากลับมา’ เอาจริงๆ กว่าจะทำได้ไง มันต้องผ่านจุดทำไงได้มาแล้วทั้งนั้น

ปัญหานี้คือไม่ใช่แฟนเก่าเขากลับมาไหม แต่คนของเรายังลืมเขาไม่ได้ต่างหาก”
 


ดร. กุลวดี - “อย่างที่ทุกท่านพูด เหตุผลกับความรู้สึกมันแยกจากการ เข้าใจได้ด้วยเหตุผล แต่ความรู้สึกมันเป็นอีกเรื่อง ทีนี้หลายๆ คนที่บอกว่าเราเข้าใจนะ เราทำใจได้แล้ว เราไม่โกรธ เราโอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่มี่พูด แต่ก่อนที่เราจะเริ่มจัดการอะไรในตัวเราเองได้ เราต้องยอมรับกับตัวเองให้ได้ว่าเรามีความรู้สึกกับอารมณ์เหล่านั้น ว่าเราเจ็บ เราเสียใจ เราโกรธจากการที่เข้าจากเราไป หลังจากนั้นเราถึงจะเข้าสู่กระบวนการที่เราจะจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ถ้าเราไม่ยอมรับ มันก็เหมือนเราไม่ได้เริ่มกระบวนการเหล่านั้น”
 

#ฮาวทูทิ้ง
#ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
#HAPPYOLDYEAR

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ