Sign in with:
Google

บันทึกความลับ 'ฮาวทูทิ้ง' รอบ Q&A

Updated at: 2025-04-01 02:55

“ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ”
Q&A Week : Director & Actors Talk


ดูหนังจบ แต่พบว่ายัง ‘มุ้ป-อร’ จากหนังไม่ได้ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” จัดรอบพิเศษ Q&A Week : Director & Actors Talk ขอเป็นตัวช่วยตอบคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นในใจคนดู ชวนผู้กำกับและนักแสดงนำทีมโดย พี่เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ร่วมด้วย ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา และอุ๋ม-อาภาศิริ นิติพน มาพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการสร้างตัวละคร และแนวทางการกำกับการแสดงในจักรวาลของ ‘นวพล’  ที่ช่วยขยายความถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้สัมผัสทั้งบท ภาพ เสียง การแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้มีความหมายอะไรซ่อนอยู่ .. อยากให้คนดูรู้สึกอะไร.. อาจจะคลายความสงสัยได้ว่าทำไมดูหนังจบแล้ว เราถึง “รู้สึก” ไปกับทุกตัวละคร ไม่ว่าจะเจ็บปวด เศร้า เข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ก็ทำให้เราอยากตั้งคำถามไปกับมัน
 


หนังเรื่องนี้ตั้งต้นมาจากการอยากให้คนดูรู้สึกไม่แน่ใจในการกระทำของตัวละคร”  

พี่เต๋อ-นวพล พูดถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เราสร้างตัวละครให้มีความก้ำกึ่ง ตัวละครเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า กำลังดีใจหรือเสียใจอยู่มากกว่ากัน อยากให้คนดูรู้สึกไม่แน่ใจในการกระทำของตัวละคร ตั้งคำถามกับตัวละครและถามตัวเอง  ตอนทำสคริปต์อาจยังไม่ได้ลงลึก แต่พอเวิร์คชอปก็เริ่มเห็นว่าความสนุกที่จะใส่ความสงสัยเข้าไป

แนวทางการกำกับการแสดงก็จะต้องบาลานซ์ให้มีความพอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป เช่น ถ้าฉากนี้เขาร้องไห้เยอะเกินไป อารมณ์ในฉากนั้นจะเปลี่ยนไปหมด ส่วนใหญ่จะให้นักแสดงลองเล่นออกมาก่อน แล้วค่อยมาปรับระดับ เพราะการตีความของนักแสดงและผู้กับกับในบทนั้นก็อาจจะไม่ตรงกัน ในแต่ละฉากมันเล่นออกมาได้หลายแบบ นักแสดงเล่นเผื่อไว้หลายระดับเพื่อนำไปเลือกในห้องตัดต่ออีกครั้ง ซึ่งจะต่างจากฟรีแลนซ์ที่กำกับระดับให้เล่นไปเลย แต่สำหรับเรื่องนี้เราต้องการความซับซ้อนมากกว่า

การเลือกใช้เพลงในเรื่องก็เหมือนกัน หนังเรื่องนี้ใช้แค่เปียโนกับเครื่องเป่าเป็นหลักให้เข้ากับอารมณ์ของหนัง และบอกกับคนทำเพลงว่าในซีนที่เศร้า ให้เลือกเพลงที่ดูมีความสุข เพื่อให้เกิดความรู้สึกก้ำกึ่งแบบ bittersweet ของตัวละคร มีทั้งความมืดและสว่าง ซึ่งมันอาจจะสื่อความไปถึงคนดูแต่ละคนให้รู้สึกไม่เหมือนกัน” 
 

 
ระดับของความเศร้า  

นวพลเล่าถึงในการถ่ายทำมีหลายซีนของฟ้า ออกแบบ และพี่อุ๋ม ร้องไห้ออกมาแบบใส่เต็มเวลาส่งบทให้กัน แม้ว่ากล้องจะไม่รับหน้าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ แต่หลายซีนเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ในหนังที่เราได้ดูกัน เพราะมันทำให้อารมณ์ของหนังผิดไป และเป็นที่มาของการนิยามคำว่า Sad Cool Girl ให้กับการแสดงความเศร้าของมี่ 

ตอนแรกฟ้าตีความว่าถ้ารู้สึกเสียใจก็ปล่อยออกมาหมด แต่พี่เต๋อมองว่ามันเยอะเกินไป ต้องปรับระดับลง หรือบางฉากที่ตัวละครยังไม่รู้ว่ากำลังจะเจอกับปัญหาอะไร เราจะเศร้านำมาก่อนไม่ได้ทั้งสีหน้าและแววตา พี่เต๋ออยากจะให้มี่เป็น Sad Cool Girl ตอนแรกก็งงว่าคืออะไร พี่เต๋ออธิบายว่าเป็นคนที่เสียใจ แต่ต้องยิ้มออกมา ฟ้าที่ตอนนี้กลายเป็นโลโก้ของ Sad Cool Girl ไปแล้ว เล่าเบื้องหลังการทำงานให้ได้ฟัง 
 

 
“เราดีใจที่ได้เจอเธอ จะให้เราด่าอะไรล่ะประโยคจำ ที่มีความทรงจำซ่อนอยู่ 

ซันนี่ เล่าถึงที่มาของการพูดประโยคนี้ที่เกิดจากความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์นั้นจริงๆ การพูดโดยเหมือนไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ทำให้รู้สึกเศร้ากว่าเดิมอีก เหมือนคนคนนั้นได้ผ่านจากจุดนั้นมาแล้ว ตัวละครนั้นเขารู้สึกยังไงอยู่ ยังรักอยู่ ยังโกรธอยู่ ถ้าเราแสดงความโกรธออกมา หรือใช้น้ำเสียงใช้จังหวะที่ต่างออกไป ความรู้สึกและอารมณ์ในฉากนั้นจะเปลี่ยนไปเลย และเมื่อซันนี่ลองใช้น้ำเสียงติดตลกที่ใช้เป็นประจำในซีนสำคัญของเรื่อง พี่เต๋อก็ตัดคะแนนการแสดงของซันนี่ทันที เพื่อยืนยันว่าโทนเสียงมีความสำคัญ

ซีนคืนกล้องที่คนได้เห็นจากในตัวอย่างหนังเป็นอีกซีนหนึ่งที่พี่เต๋อเลือกระดับการแสดงของออกแบบที่ไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟาย แต่เลือกแบบที่จีนกำลังพูดต่อหน้าเอ็มแล้วมีน้ำตาอยู่เบ้าโดยไม่ต้องไหลออกมา ตัวละครในเรื่องนี้จะเถียงกันด้วยเหตุผล พยายามจะไม่ใช้อารมณ์โกรธหรือเศร้าเกินไปออกมาคุยกัน เลยต้องควบคุมทั้งน้ำตาและน้ำเสียงในการสนทนา เราจะเพลินไปกับการแสดงเกินไปไม่ได้ พี่เต๋อขยายความให้ฟัง 
 

 
ทุกเสียงคือการสื่ออารมณ์ ความเงียบก็เช่นกัน 

ออกแบบเองเป็นคนพูดเร็ว บางฉากอยากจะพูดให้ชัด แต่พี่เต๋อไม่เอา เพราะตัวละครของจีนมันควรจะพูดลักษณะนี้ การพูดงึมงำ หรือการพูดช้า-เร็ว พูดดัง-เบา มันมีความเป็นตัวละครตัวนั้นซ่อนไว้ เช่น การร้องไห้ การเงียบ ตัวจีนจะไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าตัวเองพัง หรือว่าพังแค่ไหน จะไม่มีใครรู้ มีแต่จีนเท่านั้นที่รู้ ออกแบบเล่าเบื้องหลังการแสดงให้ฟังและบอกว่าตัวเองอินกับความเป็นตัวละครจีน คิดแบบจีน พูดแบบจีน อยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว 

พี่เต๋อเสริมถึงเบื้องหลังของฉากถกเถียงกันในบ้านระหว่างออกแบบและพี่อุ๋ม เกิดจากการสะท้อนธรรมชาติในการพูดคุยจริงๆ คนหนึ่ง ก็ต้องพยายามพูดให้จบให้ได้ แต่คนอีกฝั่งหนึ่งต้องพยายามหาวิธีป้องกันเสียงพูดนั้นโดยที่ยังไม่เดินหนี เราให้นักแสดงจำบทแล้วเถียงกันไป ส่วนเราทำหน้าที่ดู ซึ่งมันอาจจะท้าทายการทำงานของทีมเสียงที่ต้องการเสียงพูดที่ชัด เพื่อไปตัดต่อ แต่พอเวลากำกับ การพูดทุกแบบของตัวละครมันเป็นส่วนหนึ่งของสื่ออารมณ์ พูดดังกว่านี้อาจจะผิดอารมณ์ไปจากนี้ก็ได้ ทีมเสียงก็จะหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่น ถ้าตัวละครตัวนั้นจำเป็นต้องพูดเบา ก็จะติดไมค์เอาไว้สองตัว

ตัวละครเรื่องนี้เขียนมาจากคนที่มีความรักต่อกัน พยายามจะเข้าใจ และไม่อยากทำร้ายกัน จะไม่ได้พูดกันเยอะมาก และความเงียบที่อยู่ในหนังมันก็เป็นการแสดงอย่างหนึ่ง ในแต่ละฉากมันจะมี highest Point อยู่ เช่น ซีนโทรศัพท์ที่เปียโน เราจะพาอารมณ์ไปให้ถึงจุดนั้น ให้ความเงียบสื่อสารกับคนดูให้รู้สึกไปกับตัวละคร
 

 
มุมกล้องที่สอดคล้องกับจังหวะชีวิต

ถ้าเทียบกับฟรีแลนซ์ พี่เต๋อมองว่าวิธีคิดของการทำภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้ เป็นคนละแบบกัน เล่าเรื่องตัวละครต่างกันซึ่งทำให้เกิดมุมกล้องที่ต่างออกไป ในฟรีแลนซ์เล่าเรื่องชีวิตยุ่นแต่ละวันที่มันหมุนเร็ว เลยเลือกถ่ายทำแบบสารคดีที่เคลื่อนกล้องไว แต่เรื่องฮาวทูทิ้ง ตัวละครจะนิ่งกว่า เลยใช้วิธีการเคลื่อนกล้องช้าๆ อย่างที่เห็นกันในหลายๆ ฉาก อยากให้รู้สึก Smooth และสวยงาม”   

พี่อุ๋ม-อาภาศิริ ในบทแม่ของจีนและเจ เล่าถึงฉากโต๊ะกินข้าวซึ่งความจริงแล้วอยู่ในพื้นที่ที่แคบมาก “ตอนถ่ายทำคือกล้องจะเคลื่อนที่เข้ามาเรื่อยๆ ไม่หยุด ทุกคนต้องเล่นให้ทัน ก่อนที่กล้องจะหมุนเข้ามารับหน้า สิ่งที่ตกลงกับออกแบบและหมีคือ ถึงจะต้องช่วยกันทำเวลา แต่ขอเคี้ยวแกงส้มให้เสร็จก่อนจะเริ่มพูด จะได้ดูเป็นการพูดคุยบนโต๊ะกินข้าวของคนในบ้านจริงๆ แต่ไม่อยากให้กระเด็น พี่อุ๋มเล่าเบื้องหลังที่แม้แต่พี่เต๋อก็เพิ่งได้รับรู้เป็นครั้งแรกพร้อมกับผู้ชมรอบนี้

การเคลื่อนกล้องแต่ละครั้ง ไม่ใช่การเคลื่อนไปเฉยๆ แต่เป็นมุมมองของตัวละคร เช่น ตัวละครมองไปทางขวา กล้องค่อยเคลื่อนไปตาม ไม่ว่าเคลื่อนที่หรืออยู่นิ่ง จะจับภาพสิ่งของ หรือจับภาพสีหน้าแสดงความรู้สึก ก็สื่อความหมายได้ต่างกันและในการทำงานก็มีถ่ายไว้หลายแบบ อย่างฉากการพูดคุยช่วงท้ายของเอ็มและจีนที่เลือกการจับภาพ ที่ให้ความหมายเหมือนการย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ซึ่งในหลายๆ ฉาก เห็นภาพว่าต้องใช้มุมมกล้องแบบนี้ตั้งแต่ตอนเขียนบท เพราะมันจะช่วยเล่าเรื่องและให้ความรู้สึกโดยที่บางทีคนดูก็ได้รับไปโดยไม่รู้ตัว”   
 

 

สรุปการทิ้งครั้งนี้..ยังเหลือเธอหรือเปล่า ?  

หลายคำถามที่ผู้ชมในรอบ Q&A รอบนี้ถามมา คือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าถึงหรือเลือกที่จะข้ามเรื่องนี้ไป รวมถึงบทสรุปที่ต่างคนรู้สึกต่างกัน ซึ่งพี่เต๋อยอมรับว่าชอบที่คนดูตั้งคำถาม หรือดูอีกครั้งแล้วเห็นบางอย่างต่างออกไปจากเดิม เพราะเชื่อว่าทุกคนจะมีการคิดในเวอร์ชั่นของตัวเอง และได้เห็นการเรียนรู้ของตัวละครที่ถึงแม้จะไม่ได้มีการสรุปข้อคิดเอาไว้ก็ตาม 

จริงๆ แล้ว จีนได้เรียนรู้ตั้งแต่การทิ้งในต้นเรื่อง ทำให้เรื่องราวนี้มันเกิดขึ้น– ซันนี่

ออกแบบเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์เหมือนกับจีน ก็จะเข้าใจจีนไปเต็มๆ และคนที่มีประสบการณ์แบบเอ็มกับมี่ ก็จะเข้าใจสิ่งที่เขาสองคนทำ เหมือนกัน– ออกแบบ 

ฮาวทูทิ้ง พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทุกคนในเรื่องนี้มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งบอกได้ยากว่าใครทำผิดหรือถูก สิ่งที่คนดูรู้สึก มันไม่ต้องตรงกับที่ผู้กำกับรู้สึกก็ได้ ปล่อยให้ตัวละครถามคนดูว่าควรจะรู้สึกยังไงดี อยากเปิดพื้นที่ไว้ให้คนดูได้คิดต่อ ซึ่งตรงกับความต้องการแรกที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมา พี่เต๋อปิดท้ายการพูดคุยในรอบ Q&A Director and Actors Talk ของภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ที่ผู้ชมรอบนี้ได้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง ได้ฟังเรื่องราว Exclusive จากนักแสดง แถมยังได้เกร็ดความรู้การเขียนบท สร้างตัวละคร และกำกับสไตล์พี่เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับสายประณีต ที่เริ่มรู้จักประนีประนอม แบบที่ซันนี่ให้คำนิยามไว้. 

 

 

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ