Sign in with:
Google

ฮาวทูสุข ฮาวทูเศร้า..ด้วยเครื่องเป่าและเปียโน  

Updated at: 2024-12-28 09:30

ฮาวทูสุข ฮาวทูเศร้า..ด้วยเครื่องเป่าและเปียโน  

“ซีนเศร้า อย่าทำเพลงเศร้าตามซีน ถ้าดนตรียิ่งสุขมากเท่าไหร่ ซีนเศร้านั้นจะยิ่งเศร้าและเจ็บปวด” หนึ่งในคีย์เวิร์ดที่เต๋อ-นวพลให้ไว้กับ “ใจเทพ ร่าเริงใจ” ผู้อยู่เบื้องหลังดนตรีประกอบภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” 

เพราะดนตรีประกอบภาพ จะทำหน้าที่ช่วยขับอารมณ์ของสิ่งที่ต้องการสื่อสารกับคนดูให้ชัดเจนขึ้น ช่วยเพิ่มอรรถรส ช่วยทำให้คนดูได้ “สัมผัสและรู้สึก” ไปกับเรื่องราวที่ผู้กำกับอยากจะเล่าได้ง่ายขึ้น 

ชวนมาพูดคุยกับ “ใจเทพ ร่าเริงใจ” ที่เคยฝากผลงานดนตรีประกอบให้ได้ฟังกันมาหลายเรื่อง เช่น  Hormones วัยว้าวุ่น Season 1, น้ำตากามเทพ, GTH Side Story, Stay ซากะ..ฉันจะคิดถึงเธอ รวมถึงผลงานล่าสุดใน ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ กับประสบการณ์เบื้องหลังสุดพิถีพิถัน ที่ใจเทพคิดว่าทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษสำหรับตัวเองและต่างจากที่เคยทำ
 


โจทย์มินิมอล “เล่นน้อยหวังผลมาก” 

“ดนตรีประกอบในเรื่องนี้ จะทำหน้าที่เหมือนคนที่ยืนอยู่กับตัวละครในซีนนั้น แล้วสะท้อนอารมณ์ของตัวละครออกมา ไม่ใช่การผลักให้อารมณ์พุ่งขึ้น แต่จะประคองไว้ เพื่อบอกคนดูว่าขณะนี้ตัวละครรู้สึกอะไร 

บรีฟแรกจากนวพล ขอล็อคเครื่องดนตรีหลักเป็นเปียโนกับเครื่องเป่าอย่างทรัมเปต เพราะน่าจะเข้ากับมู้ดของหนังที่สุด แต่บางช่วง แค่ 2 เครื่องนี้อาจจะไม่พอ จะเพิ่มด้วยการดับเบิ้ลไลน์เปียโนหรือเพิ่มชนิดดนตรีจากหมวดเครื่องเป่า อย่างฮอร์น, ทูบา ถ้าไม่พอจริงๆ อย่างเช่นเพลงเปิดเรื่อง จะเลือกเพิ่มกลองหรือดับเบิลเบสเข้ามา

ลักษณะดนตรีส่วนใหญ่ในเรื่องนี้เป็นลักษณะ “ซึม” เข้ามา ไม่มีการถาโถมตั้งแต่ต้น เช่น พอมีแอคชั่นเกิดขึ้น ดนตรีโน้ตแรกจะเข้ามาแบบ 1 โน้ตเบาๆ หรือถ้าเป็นการกดหลายโน้ตพร้อมกัน จะกดแค่ 1 ครั้งแช่ไว้ แล้วปล่อย หลังจากนั้นค่อยไต่ระดับไป” 
 


 

ทุกฮาวทูคือความท้าทาย

“เริ่มแรกเลยจะทำงานกับบทภาพยนตร์ ทำไอเดียไปให้กับนวพลและชลสิทธิ์ (มือตัดต่อ) ตามบรีฟที่ใช้เปียโนและทรัมเปต ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน พอได้รับภาพไฟนอลที่มาพร้อมเพลงไกด์ไลน์อารมณ์แต่ละซีนซึ่งมาจากเครื่องดนตรีหลากหลาย ต้องนำมาประกอบใหม่ด้วยเครื่องเป่าและเปียโน แต่ต้องเก็บอารมณ์และบรรยากาศเอาไว้ทั้งหมด 

นวพลเป็นคนแม่นในมู้ดของหนังมาก ระหว่างที่ทำและแก้ไขกัน (เฉลี่ยแล้วแก้ไม่ต่ำกว่า 5 รอบ ต่อ 1 เพลง) บางครั้งขอแก้แค่โน้ตเดียว เช่น ขอโน้ต 1 ตัวนี้ขึ้นสูง แทนลงต่ำได้มั้ย? หรือโน้ตตัวนี้ขอตัดทิ้งเลย เพราะถ้าคลาดเคลื่อนไปนิดเดียว ซีนนั้นจะเปลี่ยนไป หรือเล่นเยอะไป จะทำให้ล้นเกิน การทำงานตลอดช่วงหนึ่งเดือน พอส่งเพลงไป ผ่านไปสักพักใหญ่ๆ จะมีไลน์มาจากนวพลว่า ‘ใจเทพสะดวกคุยมั้ยครับ’ เท่านั้นแหละ ใจเต้นรัวทุกครั้ง แต่ก็จะได้ฟังได้คุยรายละเอียดเพิ่มขึ้น หลังๆ เปิดโปรแกรมแสตนด์บายด์รอแก้ และก็แก้กันจนวินาทีสุดท้าย”
 


 

เก็บเล็กผสมน้อยทุกไอเดีย

“อย่างเพลงเปิดเรื่อง นวพลอยากให้เพลงนี้ทำให้คนดูเข้าใจตั้งแต่แรกว่าเรื่องนี้จะใช้ดนตรีแบบนี้เป็นหลักไปทั้งเรื่อง ทางผมเลยหยอดไอเดียว่าอยากให้เพลงแอบบอกเล่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเรื่องไปด้วย ตอนต้นเพลงจะขึ้นด้วยโน้ตเดี่ยวง่ายๆ สองตัววนไปมา เพื่อบอกคาแรกเตอร์จีนที่เป็นลุคเท่ๆ แล้วหลังจากนั้นจะเพิ่มปริมาณเครื่องทับถมขึ้นไป เพิ่มไดนามิคขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบอกว่าเรื่องจะวุ่นวายขึ้น รวมถึงการใช้เสียงเครื่องเป่า ‘ปูดดด’ แทรกเข้ามา บางช่วงเพื่อเตือนทั้งตัวละครและคนดู ว่าหายนะจะเกิดแล้ว

ถ้าลองสังเกตดูจังหวะในเพลงเปิดเรื่อง เทมโปและห้องของเพลงจะซิงค์กับชื่อของทุกคนที่ปรากฏบนจอ ชลสิทธิ์ดีไซน์ตรงนี้มา ผมก็พยายามรักษาไว้ และใช้เวลาทำงานกับเพลงนี้นานที่สุด เพราะเป็นเพลงที่ให้ข้อมูลพื้นฐานของหนังเกือบทั้งหมดเลย.. และตอนขึ้นชื่อนวพล ผมใช้เครื่องเป่าคนละโน้ตกับคนอื่น เพื่อแอบบอกว่า ‘นี่แหละ..ผู้สร้างหายนะตัวจริง’ ไม่รู้ว่ามีใครสังเกตมั้ย 

สำหรับซีนที่ชอบเป็นการส่วนตัว ทำออกมาแล้วทั้งนวพล ชลสิทธิ์ และผม รู้สึกว่าลงตัว คือฉากลองเทคที่จีนไปบ้านเอ็มครั้งแรก ได้เสียงเปียโนนี้เข้ามาในหัวตั้งแต่ดูภาพครั้งแรก ใช้วิธีดูภาพพร้อมกับเล่นดนตรีอัดไปเลยยาวๆ แล้วกลับมาขยับทีละโน้ตเพื่อบาลานซ์อารมณ์ (ถ้าให้เล่นอีกที อาจจะไม่เหมือนเดิม)”
 


ฮาวทูเป็นนักดนตรีประกอบภาพแบบ “ใจเทพ” 

สำหรับคนที่สนใจด้านนี้ ควรฝึกฝนทักษะดนตรี ถ้าได้เรียนดนตรีโดยตรงก็จะยิ่งมีเครื่องมือให้หยิบไปใช้ในงานได้เยอะ และควรจะมีความรู้เรื่องซอฟแวร์ผลิตเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสื่อบันเทิงประเภทภาพเคลื่อนไหว เพราะเราต้องทำเพลงให้สัมพันธ์กับภาพ ถ้าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานของภาพ เราก็สามารถใส่รายละเอียดกับมันได้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คือการฟังให้เยอะ ดูให้เยอะ แล้วเก็บมาประยุกต์ใช้กับงานตัวเอง 

ดนตรีประกอบที่ดี คือดนตรีประกอบที่ไม่โดดเด่นเกินภาพจนเกินไป ไม่ทำให้คนดูหลุดจากหนังไปโฟกัสที่เพลง แต่บางครั้งผู้กำกับอาจต้องการให้เพลงเล่าเรื่องแทนภาพในบางช่วง ก็จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป สำหรับผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือทำออกมาให้ลงตัวและทำให้ได้ผลลัพธ์ทางใจที่ดี เป็นความท้าทายที่จะพยายามฝึกต่อไปให้ได้แบบนั้น

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ