Sign in with:
Google

แอ็คติ้งโค้ช "ครูร่ม" ผู้อยู่เบื้องหลัง HOMESTAY

Updated at: 2024-12-28 22:07

“แอ็คติ้งโค้ชคือผู้ช่วยผู้กำกับอีกคน เราจะช่วยทุกฝ่ายที่ต้องทำงานกับนักแสดงให้พวกเขาทำงานง่ายขึ้น แต่หน้าที่หลัก ๆ คือช่วยเตรียมความพร้อม แก้ปัญหา หรือทำยังไงก็ได้ให้นักแสดงสามารถแสดงออกมาได้เป็นธรรมชาติตามภาพในหัวที่ผู้กำกับต้องการ” ข้างต้นคือความหมายของหน้าที่ ‘แอ็คติ้งโค้ช’ ผ่านการนิยามของ “ครูร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์” แอ็คติ้งโค้ชผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงของทุกตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง ‘HOMESTAY’ ที่จะมาแชร์โมเมนต์สุดมหัศจรรย์ ที่แม้แต่สวรรค์ก็ให้ไม่ได้ ของเบื้องหลังการทำงานในภาพยนตร์ทริลเลอร์แฟนตาซีเรื่องนี้

 

 

“เมื่อไหร่ที่เราต้องทำงานซึ่งดัดแปลงจากงานต้นฉบับ เราจะมีความเชื่อในหัวว่ายังไงงานต้นฉบับจะต้องดีกว่าเสมอ ซึ่ง ‘เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม’ ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เราชอบมาก ๆ แต่พอได้มาอ่านบทเรื่อง HOMESTAY เรากลับรู้สึกว่าวิธีที่คนเขียนบทดัดแปลงบริบทจากญี่ปุ่นให้มาเป็นไทยมันกลับทำให้เราชอบตัวบทที่ดัดแปลงมากกว่าตัวต้นฉบับเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นการหยิบเรื่องทุเรียนมาเล่า พอมันเป็นบริบทที่เราคุ้นเคยก็เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวได้ง่ายขึ้น”

“ก่อนหน้านี้เราเคยเอาบทภาพยนตร์เรื่อง ‘Silence of the lambs’ มาแปลเป็นไทยให้นักแสดงเล่น ซึ่งจะมีฉากที่นางเอกต้องเข้าไปคุยกับ ดร.ฮันนิบาล เรื่องฆาตรกรชื่อ ‘บัฟฟาโล่ บิล’ ปรากฎว่าถึงนักแสดงจะเล่นดีแค่ไหนแต่คนดูก็ไม่รู้สึกอินตาม เราตัดสินใจเปลี่ยนพาร์ทของตัวบัฟฟาโล่ บิล ด้วยการนำเรื่องคดีข่มขืนเด็กต่อเนื่องในรถซึ่งเป็นข่าวดังในไทยช่วงนั้นพอดีมาเล่าแทน แค่เปลี่ยนเรื่องพูดแต่แกนทุกอย่างเหมือนเดิม คราวนี้อยู่ ๆ คนดูก็เริ่มอินขึ้นกว่าเดิม เพราะเขาสามารถเข้าใจและเข้าถึงสถานการณ์ที่ตัวละครกำลังต้องเผชิญโดยไม่ต้องถูกกำแพงทางวัฒนธรรมกั้นไว้”

“นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกกับบทของ HOMESTAY ว่าคนทำได้ช่วยเราก้าวข้ามกำแพงทางวัฒนธรรม เราเลยอินกับบริบทใหม่ ๆ ที่หนังสร้างขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย”

“แต่หลังจากอ่านบทเสร็จเราก็กังวลขึ้นมาทันที เพราะบทมันดีแต่เรากลัวว่าเราจะทำมันออกมาไม่ดี (หัวเราะ) ซึ่งพี่โอ๋(ผกก.) ก็ได้บรีฟเรามาคร่าว ๆ ถึงปัญหาที่เขากังวลกับนักแสดงที่อยากให้เราช่วยเป็นพิเศษ 3 คน คือ เจมส์ เฌอปราง และก็เบบี้มายด์”

 

 

“จริง ๆ เราไม่ได้กังวลบทของบี้เพราะมันไม่ได้ยากขนาดนั้น และตัวบี้เองก็มีสเน่ห์ มีพรสวรรค์ แต่มันมีปัจจัยที่มากดพรสวรรค์นั้นไว้ บี้เป็นเด็กขี้กังวล เขาจะคอยเช็คความรู้สึกคนอื่นตลอดเวลา พอผู้กำกับสั่งคัทก็จะรีบวิ่งกลับมาถาม “โอเคไหมครู” เราต้องใช้วิธีไม่บอกฟีดแบ็ค บอกให้เล่นๆไปก่อนเดี๋ยวถ้าไม่ใช่ยังไงจะบอกเอง เพราะถ้าบอกว่าไม่ดีบี้จะยิ่งนอยเข้าไปใหญ่ หรือถ้าบอกว่าดี ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ดีก็จะกลายเป็นเราโกหก”

“ความกลัวว่าจะทำงานออกมาไม่ดี เกิดเป็นความกังวลจนทำให้ตัวเขาไม่เสถียร ตื่นเต้นตื่นตัวไปกับทุกอย่าง จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้เพราะประสบการณ์น้อย เราต้องใช้วิธีการเหมือนเวลาโค้ชเด็ก คือพอพี่โอ๋สั่งคัทเราจะรีบเข้าไปประกบ ไปชวนคุยเรื่องอื่นให้หัวมันโล่ง ให้มันคิดน้อยที่สุด พอพี่โอ๋จะสั่งแอคชั่นก็ค่อยให้กลับไปเล่น เพื่อให้เขาหายกังวล แล้วเข้าฉากไปอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้าที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเตรียมตัว”

“พอเขาปรับตัวได้สักประมาณคิวที่สามก็เริ่มโค้ชเหมือนคนอื่นแล้ว เราก็จะบอก “เข้าซีนใหม่ อย่าเล่นเหมือนเดิม อันนี้ไม่เอาแล้ว เคยเห็นแล้ว” บี้ก็จะมีเซอร์ไพรส์เล่นอะไรใหม่ๆให้เราเห็นตลอดเวลา สิ่งนี้เรียกว่าความสด เป็นการแสดงที่ไม่ได้มาจากทักษะแต่มาจากความจริงใจ และเป็นการดึงสเน่ห์ของตัวเขาออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด”

 

 

“สิ่งที่พี่โอ๋บรีฟถึงเฌอคือเวลาบทน่ารักเขาน่ารักมาก แต่เวลาร้องไห้เหมือนเฌอยังมีกำแพงบางอย่างมากั้นทำให้เขายังไม่กล้าปล่อยอารมณ์สุด ๆ ซึ่งบทของเขามันจำเป็นเพราะต้องร้องไห้เยอะมาก”

“เฌอปรางเป็นเด็กฉลาด แต่เรามองว่าเขาเป็นคนที่ ‘กด’ ความรู้สึกหลายอย่างไว้กับตัว มนุษย์ทุกคนมีด้านทุเรศทุรัง และเราต้องยอมรับด้านนั้นให้ได้ถึงจะยอมรับพาร์ทอื่นๆในชีวิตตัวเองได้ แต่ตอนนั้นเราไม่เห็นว่าเฌอกล้าปล่อยพาร์ททุเรศในตัวเองออกมา ยกตัวอย่างซีนพ่นน้ำ การถุยน้ำลายใส่หน้าใคร เฌอจะรู้สึกต้านสิ่งนี้ด้วยจิตใต้สำนึก มันคิดตัดสินอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำไปทำไม มันสกปรก เราเลยให้การบ้านเฌอไปฝึกพ่นน้ำที่บ้านซ้ำ ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อรู้สึกชินกับการทำสิ่งนี้จนวันหนึ่งเขาก็พ่นน้ำออกมาได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องคิด พอเขาพ่นได้แล้วได้ภาพอย่างที่ผู้กำกับต้องการ เขาได้รับคำชม จิตใต้สำนึกเขาก็จะค่อยๆเปลี่ยนจากที่ตอนเด็กทำแล้วอาจจะโดนพ่อแม่ดุ กลายเป็นว่า ‘ทำแบบนี้ในบริบทนี้ก็ได้คำชมนี่หว่า’”

“คล้ายกันกับการที่เฌอไม่กล้าร้องไห้ (หรือใครหลายๆคน) ส่วนหนึ่งอาจมาจากจิตใต้สึกนึกที่เชื่อว่าการร้องไห้เป็นสิ่งไม่ดี เป็นการแสดงความอ่อนแอ เวลามีปัญหาเลยเลือกที่จะกดเอาไว้จนสร้างเป็นกล้ามเนื้อความแข็งแรงทางจิตใจ เราต้องค่อยๆช่วยถอนตรงนั้นออกให้เขากล้ายอมรับและปลดปล่อยความรู้สึกที่แท้จริงออกมาให้ได้”

“อารมณ์กับความคิดมันเหมือนกัน เมื่อไหร่ที่บอกว่าโกรธสิ ดีใจสิ เสียใจสิ มันจะวิ่งหนี เพราะมนุษย์ไม่ได้ทำงานแบบนั้น เวลาที่เราร้องไห้เสียใจหรืออะไรก็ตาม มันคือการที่เราอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ เราใช้วิธีสร้างเหตุการณ์สมมุติกับเฌอว่าแม่มาบอกลา เพราะแม่จะไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศกับผู้ชายคนใหม่ เราไม่ต้องไปคิดว่าเราร้องไห้ แต่ให้เราแค่นึกภาพแม่ที่มาในวันนั้น เสื้อผ้าที่แม่ใส่ ผมที่แม่ทำ แววตาที่แม่มองมา น้ำเสียงในประโยคที่แม่พูดออกมา กลิ่นอ้อมกอดลาของแม่ สิ่งเหล่านี้คือ trigger หรือตัวลั่นไกที่จะช่วยปลดอารมณ์ของนักแสดงออกมา ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่แค่นักแสดงหรอก คนเราทุกคนก็มี trigger เหล่านั้นอยู่แล้ว พอเฌอจับจุดตรงนั้นเจอและเขากล้าที่จะปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมา มันก็ทำให้เขาสามารถเล่นซีนดราม่าออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

 

 

“ตอนแรกเราก็ทำการบ้านมาเยอะมาก หา reference มาเพียบเลย แต่พอมาเจอพี่โอ๋ก็โดนผลักออกจากโต๊ะไปหมด พี่โอ๋ไม่อยากให้เจมส์มีการรับรู้ หรือความคาดหวังอะไรใด ๆ เลย เขาอยากให้เจมส์มีรีแอคต่อสถานการณ์นั้น ๆ แบบสด ๆ เป็นคาแรคเตอร์ที่ไม่มีภาพในอดีต ไม่มีภาพต่อไปในอนาคต มันคือ Stay in the moment จริงๆ”

“โจทย์ที่เขาบอก มันทำให้เราต้องย้อนกลับไปคิดว่า ‘เราจะทำให้เขามีประสบการณ์เหมือนตัวละครได้ยังไง เพราะเขามีชีวิต ไม่เคยตาย’ ทำไงดีให้เขามีประสบการณ์ร่วมที่ใกล้เคียงกับตัวละคร ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ในเชิงวิธีคิด แต่ในเชิง physical มันทำงาน ก็เลยได้วิธีปิดผัสสะทุกอย่างของเขาก่อน แล้วค่อยๆเปิดทีละผัสสะ ปิดหูปิดตา ให้อยู่ในพื้นที่ที่อึดอัด แล้วก็ค่อย ๆ ให้แสงสว่างเขาไปทีละอย่าง เช่น ให้เขาเริ่มได้ยินเสียงคนอื่น ให้เขาได้กลิ่น ให้เขาได้ค่อยๆ สัมผัสอะไรทั้งหลายแหล่ที่จะสร้างตัวละครตัวนี้ในความคิดของเขา เป็นสภาวะที่คล้ายกับการเป็นเด็กเกิดใหม่อีกครั้ง ซึ่งใกล้เคียงกับคาแรคเตอร์ของมินในเรื่อง”

“อีกเทคนิกที่ใช้กับเจมส์คือการทำ ‘Spin’ ในช่วงแรกของหนังที่กำลัง set up ร่างของมินจากความตายสู่การกลับมามีชีิวิต แล้วต้องไปพบกับผู้คุมบนตึกที่ถูกกลับด้าน ด้วยสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามา พี่โอ๋บอกว่าต้องพาอารมณ์ของตัวละครไปให้สุด เหมือนมินต้องรู้สึกทั้งงง ทั้งกลัว ทั้งตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับกูเนี่ย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ยากมากที่ใครจะเข้าใจ และแน่นอนว่าหากเจมส์ไม่เข้าใจความรู้สึกนั้นก็คงไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้”

“แนวคิดของการ Spin นั้นมาจากพิธีกรรมของเผ่ามายันที่เต้นรอบกองไฟ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่เขาเต้นจนสูญเสียการควบคุม ผู้เต้นจะ out of control จนรู้สึกเหมือนจิตใจไม่ได้อยู่ในร่างที่ตัวเองอยู่ณ.ขณะนั้น เราก็เลยนำไอเดียนั้นมาใช้ เราให้เจมส์หมุนตัวอยู่กับที่ในห้องเวิร์คช็อป หมุนตัวหนักมากจนเราว่าน้องก็งงว่าให้ทำอะไร แต่สุดท้ายมันก็เป็นเทคนิกที่ช่วยพาเจมส์ไปแตะความรู้สึกของมินในช่วงเริ่มต้นของหนังได้”

 

 

“มันเป็นไปได้ที่เวลานักแสดงอยู่ในห้องเวิร์คช็อปจะทำได้ดีมาก แต่พอไปออกกองจะทำได้ไม่ดีเพราะในห้องเวิร์คช็อปมันเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุม ในขณะที่การไปออกกอง มันคือสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้และพร้อมจะมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นสารพัด เราทำได้แค่แก้ไขสถานการณ์หน้ากองเท่านั้น”

“ในห้องเวิร์คช็อปตัวผู้กำกับจะโฟกัสแต่นักแสดง แต่พอไปถ่ายเขาก็ต้องแบ่งความสนใจไปดูเรื่ององค์ประกอบภาพ วิธีเล่า จังหวะ เขามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหน้ากองเยอะ เราเองก็ต้องช่วยโฟกัสนักแสดงว่าเขาพลาดจุดไหนบ้าง อารมณ์ไหนถึง อารมณ์ไหนยังไม่ถึง ต้องเป็นคนคอยมาร์คและคอยช่วยผู้กำกับ”

“เราไม่มีทางรู้เลยว่าหน้ากองเราจะเจออะไรบ้าง เพราะฉะนั้นตอนเวิร์คช็อปยิ่งหนักเท่าไหร่ นักแสดงจะยิ่งชิน เวลาเจอปัญหาที่เราไม่เคยเจอในห้องเวิร์คช็อป เราก็ต้องก้าวผ่านไปพร้อมกับเขา”

“เราต้องช่วยนักแสดงลดทุกอย่างที่เป็นความกังวลไม่ให้มันเกิด หรือถ้านักแสดงกังวล เราก็จะสื่อสารกับเขาว่า “เออ กูก็กังวลกับมึงด้วย แต่ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวเราช่วยกัน” ทำยังไงก็ได้ให้เขาสบายใจและอยู่กับสถานการณ์ในซีนให้ได้มากที่สุด”

“ถ้าบางทีเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเล่นไปมันยังไม่ได้แต่ผู้กำกับให้ผ่านแล้ว เราก็จะบอกกับเขาว่า “มันไม่ได้ไม่ใช่ทั้งหมด มันมีที่ใช่แล้ว ไม่งั้นผู้กำกับเขาจะไม่ให้ผ่านหรอก” “เราต้องไว้ใจกัน เขาเห็นแล้วว่ามันมีอะไรที่เอาไปใช้ได้บ้าง” ทำยังไงก็ได้ให้นักแสดงรีบปล่อยวางความรู้สึกนี้ ไม่งั้นมันจะเกาะไปทุกซีน”

 

 

“คนเราทุก ๆ 5 ปี จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Radical Change คือสิ่งที่เราเคยเชื่อในอดีตมักจะเปลี่ยน ซึ่งเราก็เปลี่ยน ตอนทำ Countdown เราจะมีความพยายามให้มันเพอร์เฟ็คที่สุด ซ้อมเยอะ พยายามเล่นให้ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ซ้อม พอมาฉลาดเกมส์โกง วิธีการก็เปลี่ยนไป อิสระขึ้น เปิดพื้นที่ให้นักแสดงมีโอกาสใช้ศักยภาพมากขึ้น ซึ่งมันทำให้เกิดเมจิคโมเมนต์ในหลาย ๆ ซีนโดยที่เราก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน”

“พอทำ HOMESTAY ด้วยวิธีการของพี่โอ๋ ที่ให้นักแสดงเปลี่ยนวิธีเล่นไปเรื่อย ๆ และต้องคอยรับส่งกับสถานการณ์ตรงหน้าแบบใหม่ตลอดเวลา มันทำให้เรารู้สึกชอบวิธีการนี้มาก เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกใหม่ๆตลอดเวลา”

“เรื่อง in the moment มันเป็นสิ่งสำคัญของการแสดงมาก ๆ เมื่อก่อนคือคิดแค่ว่าเล่นใช่ เล่นเป็นคาแรคเตอร์ สำหรับเราก็จบแล้ว ซึ่งบางทีเราลืมมองว่ามันไม่ connect เรานึกแค่ว่าเอาไปตัดได้ก็พอแล้ว พอมาเรื่องนี้ถ้านักแสดงอีกคนเปลี่ยนวิธีเล่นแล้วคุณยังเล่นแบบเดิม แปลว่าคุณไม่ได้รับส่งกันจริงๆแปลว่าคุณเล่นจากความจำจากเทคก่อนหน้านี้ว่าเคยเล่นไปยังไง ซึ่งนึกออกมั้ยว่าในชีวิตประจำวันเรารีแอคกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าแค่นั้น ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนว่าเราจะรีแอคแบบไหน จุดนี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น”

“ในแง่การใช้ชีวิต มันก็สอนให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ปล่อยเร็วขึ้น ทำให้เรารู้ว่า ณ ปัจจุบันเราทำอะไรอยู่ มันคือศิลปะของการที่เราหาสิ่งใหม่ ๆ ในโมเมนต์นั้น ๆ แล้วเราเจออะไรกับชีวิต แล้วก็ปล่อยวางอะไรที่รุงรังกับชีวิตให้ไวขึ้น”